กรับพวง กรับเสภา ระนาด ระนาดทุ้ม ระนาดเอก ฉิ่ง ฉาบ เครื่องดนตรีไทย ประเภทตี

เครื่องตี
เครื่องตี เป็นเครื่องดนตรี ที่เข้าใจว่า เกิด ขึ้น ก่อน เครื่องดนตรี ประเภทอื่น ๆ ซึ่ง ได้มีการแก้ไข ปรับปรุง วิวัฒนาการ มา โดยลำดับ เครื่องตี ที่ใช้ใน วงดนตรีไทย แบ่งออก เป็น 3 จำพวกคือ

เครื่องตีทำด้วยไม้

กรับพวง ทำด้วยไม้บาง ๆ หรือแผ่นทองเหลือง หรืองา และมีไม้แก่นหรืองา 2 อัน เจาะรู ตรงหัว ร้อย ประกบ ไว้สอบข้าง อย่างด้ามพัด เวลาตีใช้ มือหนึ่ง ถือตรงหัว ทางเชือกร้อย แล้ว ฟาดอีก ข้างหนึ่ง ลงบนฝ่ามือ

กรับพวง เดิม ใช้เป็น อาณัติสัญญาณ การเสด็จออกพระราชพิธีของพระเจ้าแผ่นดิน อย่างที่เรียกว่า รัวกรับ ภายหลัง นำมาใช้ตีเป็น จังหวะประกอบ การเล่น พื้นเมือง เช่น เพลงเรือ ดอกสร้อย และสักวา และการขับร้องประกอบการแสดงนาฎกรรม

กรับเสภา ทำด้วยไม้แก่น โดยปกติทำด้วยไม้ชิงชัน เหลาเป็นรูปสี่เหลี่ยม เสียนิดหน่อย เพื่อมิให้บาดมือ และให้สามารถ กลิ้งตัวกระทบกันได้สะดวก ใช้ประกอบใน การขับเสภา ผู้กล่าวขับคนหนึ่ง จะต้องใช้กรับ จำนวนสองคู่ กล่าวขับไปพลาง มือทั้งสองแต่ละข้าง ก็ขยับกรับ ให้กระทบ เข้าจังหวะกับเสียงกรับไปพลาง ภายหลัง นิยมใช้ตีประกอบจังหวะ ในวงดนตรีไทย ประเภทต่าง ๆ อีกด้วย

ระนาด เป็นเครื่องตีที่วิวัฒนาการมาจากกรับ โดยใช้ไม้กรับขนาดลดหลั่นกัน เรียกว่า “ลูกระนาด” ใช้เชือกร้อยให้ติดกันเรียกว่า “ผืนระนาด” และใช้ขี้ผึ้งกับตะกั่วผสมกันติดหัวท้ายของลูกระนาด ถ่วงเสียงให้มีระดับเสียงต่างกัน เวลาเล่นขึงแขวนไว้บนรางลูกระนาด แต่ก่อนทำด้วยไม้ไผ่ชนิดที่เรียกว่า ไผ่บง หรือไผ่ตง ต่อมามีผู้นำเอาไม้แก่น เช่น ไม้ชิงชัน ไม้มะหาด ไม้พยุง มาเหลาใช้ แต่ที่นิยมกันว่าเสียงเพราะก็คือ ไม้ไผ่ตง ระนาด มี 2 ชนิด คือ ระนาดเอก และระนาดทุ้ม

ระนาดทุ้ม เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเลียนแบบระนาดเอก ลูกระนาดทำด้วยไม้ชนิดเดียวกับระนาดเอก แต่เหลาลูกระนาดให้มีขนาดกว้าง และยาวกว่าลูกระนาดเอก ประดิษฐ์วางให้มีรูปร่างแตกต่างจากรางระนาดเอก คือมีรูปคล้ายหีบไม้ แต่โค้งด้านบน มีโขนปิดด้านหัวและท้าย มีเท้าเตี้ย ๆ รอง 4 มุมราง ลูกระนาดทุ้มมีจำนวน 17 – 18 ลูก มีเสียงทุ้มต่ำกว่าระนาดเอก จึงเรียกว่า “ระนาดทุ้ม” ใช้เป็นเครื่องบรรเลงทำนองเพลงแบบหยอกล้อ ล้วง และขัดจังหวะไม้ตีระนาดทุ้ม ใช้ไม้ชนิดเดียว คือ ไม้นวม

ระนาดเอก รางระนาดโค้งคล้ายเรือ ลูกระนาดมีจำนวน 21-22 ลูก เสียงเล็กแหลมดัง ใช้บรรเลงทำนองเพลง แบบเก็บละเอียด และบรรเลงนำวงในการขึ้นต้นและจบเพลง ไม้ตีระนาดเอกมี 2 ชนิดคือ ไม้แข็ง ทำให้เกิดเสียงดังเกรี้ยวกราด และไม้นวมทำให้เสียงนุ่มนวลไพเราะ

เครื่องตีทำด้วยโลหะ

ฉิ่ง เป็นเครื่องตีที่ทำด้วยโลหะประเภทเครื่องกำกับจังหวะ รูปร่างคล้ายถ้วยชาไม่มีก้น เว้ากลาง ปากผายกลม เจาะรูตรงกลางสำหรับร้อยเชือก เพื่อความสะดวก ในการถือตีกระทบกัน เมื่อต้องการตีเสียง “ฉิ่ง” ก็เอาขอบของฝาหนึ่งกระทบเข้ากับขอบอีกฝาหนึ่ง เมื่อต้องการตีเสียง “ฉับ” ก็เอาทั้งสองฝาตีประกบกัน ฉิ่งนับว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยาก เพราะผู้เล่น จะต้องมีความสามารถในเรื่องจังหวะ และรู้อัตรา จังหวะของเพลงที่บรรเลงเป็นอย่างดี

ฉาบ รูปร่างคล้ายฉิ่ง แต่หล่อบางกว่าฉิ่ง มีขนาดใหญ่กว่า และกว้างกว่า ตอนกลางมีปุ่มกลมทำเป็นกระทุ้ง ขอบนอก แบนราบออกไปโดยรอบ เจาะรูตรงกลางไว้ร้อยเส้นเชือก หรือเส้นหนังสำหรับถือ มี 2 ขนาด คือ ฉาบใหญ่ตีตรงจังหวะ และฉาบเล็กตีขัดจังหวะ

ฆ้องโหม่ง เป็นฆ้อง ที่มีหน้ากว้าง เส้น ผ่าศูนย์กลาง ราว 30 – 45 ซม. เมื่อตี ได้เสียงดัง “โหม่ง – โหม่ง” จึง เรียก ชื่อตาม เสียงว่า ฆ้องโหม่ง เครื่องดนตรี ชนิดนี้ เป็น เครื่องดนตรี เก่าแก่ มีคู่มา กับ กลอง เดิม ใช้ตี บอก เวลา กลางวัน จึงเรียก เวลา กลางวัน ว่า “โมง” ติดปากมา ทุกวันนี้ ฆ้องโหม่ง ใช้ตี เป็น จังหวะ ในการ บรรเลงดนตรี

ฆ้องราว เป็นฆ้อง 3 ใบ มีขนาดลดหลั่นกัน ใช้แขวนราวเรียงไปตามขนาด เมื่อตีตีเรียงไปตามลำดับแล้วย้อนกลับ จะได้ยินเสียง (เสียงตีฆ้อง) โหม่ง -โม่ง – โม้ง – โมง – โหม่ง เคยใช้บรรเลงในการเล่นมหรสพโบราณ ชื่อ “ระเบง” หรือโอละพ่อ ในงานพระราชพิธี บางครั้งจึงเรียกว่า “ฆ้องระเบง”

ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงใหญ่ใช้ต้นหวายดัดโค้งเป็นวงล้อมไปเกือบรอบตัว คนนั่นตีเรียกว่า “ร้าน” เปิดช่องไว้สำหรับเป็นทางเข้าด้านหลังคนตี ลูกฆ้องวงใหญ่มี 16 ลูกขนาดตั้งแต่ใหญ่ไปหาเล็ก เรียงลำดับ ตั้งแต่เสียงต่ำไปหาเสียงสูง ฆ้องวงใหญ่ใช้บรรเลงทำนองหลักของเพลง ผู้ที่จะหัดปี่พาทย์ควรเริ่มหัดตีฆ้องวงใหญ่ก่อน เพื่อจะได้เป็นรากฐานทางดนตรีที่มั่นคง

ฆ้องวงเล็ก สำหรับฆ้องวงเล็ก สร้างขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 3 โดยมีลักษณะเหมือนฆ้องวงใหญ่ทุกอย่าง แต่มีขนาดย่อมกว่า และมีลูกฆ้องมากกว่า คือ 18 ลูก ใช้บรรเลงเก็บเช่นเดียวกับระนาดเอก

ฆ้องมอญ เป็นฆ้องวงที่ตั้งโค้งขึ้นไปทั้ง 2 ข้าง ไม่วางลงราบไปกับพื้น เหมือนฆ้องไทย ฆ้องมอญวงหนึ่งมีจำนวน 15 ลูก ร้านฆ้องวงมักประดิษฐ์แต่งกันอย่างสวยงาม เช่น แกะสลักเป็นลวดลาย ปิดทองประดับกระจก ฆ้องมอญใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ ซึ่งในปัจจุบัน นิยมใช้บรรเลงประโคมในงานศพ ฆ้องมอญมี 2 ชนิด เช่นเดียวกับฆ้องวงของไทย คือ ฆ้องมอญวงใหญ่ และฆ้องมอญวงเล็ก

ระนาดเอกเหล็ก เป็นเครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ เดิมเรียกระนาดทอง เพราะเมื่อ ประดิษฐ์ขึ้น ครั้งแรกใน สมัย รัชกาลที่ 4 ใช้ทองเหลืองทำลูกระนาด ปัจจุบันนิยมใช้เหล็ก หรือสแตนเลสทำลูกระนาด ใช้วาง เรียงบน รางไม้ มีผ้าพัน หรือใช้ไม้ระกำวางพาดไปตามขอบราง สำหรับรองหัวท้ายลูกระนาดแทนการร้อยเชือก เนื่องจาก มี น้ำหนักมาก รางไม้ที่ใช้วางลูกระนาดนึ้นทำเป็นรูปหีบสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีวิธีการบรรเลงเช่นเดียวกับระนาดเอกไม้

ระนาดทุ้มเหล็ก เป็นเครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริให้สร้างขึ้น ลูกระนาดคงทำอย่างเดียวกับระนาดเอกเหล็ก แต่ทำเขื่องกว่า เป็นเสียงทุ้มเลียนอย่างระนาดทุ้ม มีจำนวน 16 – 17 ลูก วิธีบรรเลงเช่นเดียวกับระนาดทุ้มไม้

เครื่องตีขึงด้วยหนัง

กลองทัด ตัวกลองทำด้วยไม้แก่น เนื้อแน่นแข็ง ใช้กลึงคว้านข้างในจนเป็นโพรง ตรงกลางป่องออกนิดหน่อย ขึ้นหน้าทั้ง 2 ข้าง ด้วยหนังวัวหรือหนังควายตรึงด้วยหมุด ซึ่งเรียกว่า “แส้” ทำด้วยไม้ หรืองา หรือกระดูกสัตว์ หรือโลหะ ตรงกลางหุ่นกลองด้านหนึ่งมีห่วงสำหรับแขวน เรียกกันว่า “หูระวิง” เวลาใช้บรรเลงตีเพียงหน้าเดียว หน้าหนึ่งติดข้าวสุกผสมกับขี้เถ้าปิดตรงใจกลาง แล้ววางกลองทางด้านนั้นคว่ำตะแคงขอบไว้บนหมอนหนุน มีขาหยั่งสอดค้ำตรงหูระวิง ใช้ตีด้วยท่อนไม้ 2 อัน กลองทัด นิยมใช้ 2 ลูก ลูกหนึ่งเสียงสูงเรียกว่า “ตัวผู้” ตีเสียงดัง “ตูม” อีกลูกหนึ่งเสียงต่ำเรียกว่า “ตัวเมีย” ตีเสียงดัง “ต้อม”

กลองชาตรี มีรูปร่าง ลักษณะ เช่นเดียว กับ กลองทัด ทุกอย่าง แต่ ขนาดเล็ก กว่ามาก เรียก อีกอย่าง หนึ่ง ตามเสียงดังว่า “กลองตุ๊ก” ใช้บรรเลง ร่วมใน วงปี่พาทย์ ประกอบ การแสดง ละครชาตรี จึงเรียกว่า กลองชาตรี และใช้ตี ประกอบเพลงชุด “ออกภาษา” ในเพลง สำเนียง ภาษาจีน และตะลุง

ตะโพน ตัวตะโพนทำด้วยไม้สัก หรือไม้ขนุน เรียกว่า “หุ่น” ขุดแต่งให้เป็นโพรงภายใน ขึ้นหนัง 2 หน้า ดึงด้วย สายหนังโยงเร่งเสียงที่เรียกว่า “หนังเรียด” หน้าหนึ่งใหญ่ เรียก “หน้าเท่ง” ใช้ติดข้าวสุก บดผสมขี้เถาเสียง อีกหน้าหนึ่งเล็กเรียก “หน้ามัด” ตรงรอยขอบหนัง ขึ้นหน้าถักด้วยหนังตีเกลียวเส้นเล็ก ๆ เรียกว่า “ไส้ละมาน” แล้วขึงเอาหนังเรียดร้อยในช่องของไส้ละมานทั้ง 2 หน้า โยงเรียงไปโดยรอบจนไม่เห็น “ไม้หุ่น” มีหนังพัน ตอนกลางเรียกว่า “รัดอก” ตรงรัดอกข้างบนทำเป็นหูหิ้ว ตะโพนใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ มีหน้าที่กำกับ จังหวะหน้าทับต่าง ๆ

ตะโพนมอญ มีส่วนประกอบเช่นเดียวกับตะโพนไทย แต่มีขนาดใหญ่กว่า กล่าวคือ ตะโพนไทยรูปร่างป่องกลาง ส่วนตะโพนมอญรูปร่างใหญ่ด้านหนึ่ง และเรียวเล็กลงอีกด้านหนึ่ง ใช้ตีคู่กับเปิงมางคอกในวงปี่พาทย์มอญ

โทนชาตรี ทำด้วยไม้ เช่น ไม้สัก ไม้ขนุน หรือ ไม้กระท้อน สายโยงเร่งเสียงใช้หนังเรียด ใช้ตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์ วงเครื่องสาย หรือวงมโหรีที่เล่นเพลงภาษาเขมร หรือตะลุง กับใช้ตีคู่กับกลองชาตรี ประกอบการแสดงละครชาตรีและมโนราห์

โทนมโหรี ตัวโทนทำด้วยดินเผา ด้านที่ขึ้นหนังโตกว่าโทนชาตรี สายโยงเร่งเสียง ใช้ต้นหวายผ่าเหลา เป็นเส้นเล็ก หรือใช้ไหมฟั่นเป็นเกลียว หนังที่ขึ้นหน้าใช้หนังลูกวัว หนังแพะ หนังงูเหลือม หรือหนังงูงวงช้าง ใช้บรรเลงในวงเครื่องสายและวงมโหรี จึงเรียกว่า โทนมโหรี โทนมโหรีใช้ลูกเดียวแต่ตีสอดสลับคู่กับรำมะนา ซึ่งเป็นกลองขึงหน้าเดียวเช่นกัน รำมะนามโหรีมีขนาดเล็ก หนังที่ขึงตรึงด้วยหมุดโดยรอบ ตีด้วยฝ่ามือ

กลองแขก รูปร่างยาวเป็นกระบอก หน้าหนึ่งใหญ่เรียกว่า “หน้ารุ่ย” อีกหน้าหนึ่งเรียกว่า “หน้าต่าน” หุ่นกลอง กลองแขกทำด้วยไม้จริงหรือไม่แก่น เช่น ไม้ชิงชัน หรือไม้มะริด ขึ้นหนัง 2 หน้าด้วยหนังลูกวัว หรือหนังแพะ มีสายหนัง โยงเร่งเสียง สำรับหนึ่งมี 2 ลูก ลูกเสียงสูงเรียกว่า “ตัวผู้” ลูกเสียงต่ำเรียกว่า “ตัวเมีย” เดิมใช้บรรเลง ร่วมกับปี่ชวา ประกอบการ เล่นกระบี่กระบอง ฟันดาบและชกมวย แล้วภายหลัง จึงนำ มาใช้บรรเลงใน วงปี่พาทย์ ของไทย ใช้ตีกำกับ จังหวะ แทนตะโพน และใช้แทนโทนกับรำมะนาในวงเครื่องสาย หรือวงมโหรีด้วย

กลองมลายู รูปร่างคล้ายกับกลองแขก แต่ตัวกลองสั้น และอ้วนกว่า หน้ากลองกว้างกว่า กลองมลายู ที่สร้าง ในระยะหลัง ๆ บางทีทำอย่างกลองแขก เพียงแต่มีขนาดย่อมกว่า การตีกลอง ชนิดนี้ หน้าใหญ่ตีด้วยไม้งอ ๆ หน้าเล็กตีด้วยฝ่ามือ แต่เดิมใช้ตีในขบวนพยุหยาตรา ขบวนแห่พระบรมศพ และศพเจ้านาย ภายหลัง นำมาใช้ บรรเลงประโคมศพในวงบัวลอย และวงปี่พาทย์นางหงส์ โดยบรรเลงคู่กัน 2 ลูก คือ ตัวผู้และตัวเมีย เช่นเดียว กับกลองแขก

เปิงมางคอก คือเปิงมางที่ใช้กันอย่างในวงปี่พาทย์มอญ โดยใช้เปิงมางจำนวน 7 ลูก มีขนาดลดหลั่นกันลงไป และติดข้าวสุกผสมขี้เถ้า ปิดหน้ากลองแต่ละลูกเทียงเสียงสูงต่ำ แขวนเรียงลำดับไว้เป็นราวล้อมตัวคนตี คอกที่ทำ สำหรับแขวนเปิงมางนั้น มักประดิษฐ์อย่างสวยงาม เช่นประดับกระจกสี ใช้ตีคู่กับ ตะโพนมอญในวงปี่พาทย์มอญ

สองหน้า คือ เครื่องหนังที่สร้างเลียนแบบเปิงมางนั่นเอง แต่ขยายให้โตขึ้นกว่าเปิงมาง หน้าข้างที่กว้าง กว่าใช้ตีด้วยมือซ้าย หน้าที่เล็กกว่าตีด้วยมือขวา ติดข้าวสุกผสมขี้เถ้าเพิ่มขึ้น เพื่อถ่วงเสียงให้ต่ำ จนคล้ายตะโพน ใช้ตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์ไม้แข็งที่บรรเลงประกอบการขับเสภา หรือร้องส่งอย่างสามัญ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *