เครื่องดนตรีไทย ที่ใช้ใน พระราชพิธี

เครื่องดนตรีไทยโบราณ และ เครื่องดนตรีไทย ที่ใช้ใน พระราชพิธี หมายถึง เครื่องดนตรีไทย ที่ไม่ได้นำมา ใช้บรรเลง ในวงดนตรีไทย ในปัจจุบันนี้แล้ว หรือใช้เป็น บางโอกาส บางอย่างก็เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ และบางอย่าง ก็สำหรับใช้บรรเลง เฉพาะในงานพระราชพิธีต่าง ๆ เท่านั้น เครื่องดนตรีไทย ประเภทนี้ ได้แก่

พิณ พิณเป็นเครื่องดนตรีที่มีกล่าวถึงไว้ในหลักศิลาจารึก ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในสมัยสุโขทัย ตอนหนึ่งว่า “เสียงพาทย์” “เสียงพิณ” เข้าใจว่าไทย คงจะได้รับแบบอย่างมาจากอินเดีย เพราะดูตามรูปศัพท์ของคำว่า “พิณ” เป็นคำในภาษาบาลี ของอินเดียและเข้าใจว่า พราหมณ์เป็นผู้นำเข้ามาเล่นกันก่อน เพราะมีเพลงไทยโบราณ เพลงหนึ่งชื่อว่า “พราหมณ์ดีดน้ำเต้า” พิณมี 2 ชนิด คือ

  • พิณน้ำเต้า เป็นพิณสายเดียว กระโหลกพิณทำจากผลน้ำเต้าผ่าครึ่ง เอาทางจุกหรือขั้วมาเจาะตรึงติดกับไม้คันพิณ หรือ “ทวน” ใช้สายยาวประมาณ 78 ซม. (เดิมเป็นสายหวายต่อมาใช้สายเอ็น) ขึผ่านจากด้านปลายไปยังด้านโคน (ด้านที่มีกระโหลก) ซึ่งมีลูกปิด 1 อัน สำหรับปิดสายให้ตึง หรือหย่อน เพื่อทำให้เสียงสูง หรือ ต่ำ วิธีเล่น เอากระโหลกพิณประกอบติดกับอกเบื้องซ้ายของผู้เล่น โดยใช้มือซ้ายจับคันทวน แล้วใช้มือกด หรือเผยอสายให้ตึงหรือหย่อน ใช้มือขวาดีดสายให้เกิดเสียง ดังนั้นผู้บรรเลงพิณจะต้องไม่สวมเสื้อ และคงจะต้องเป็นผู้ชายเท่านั้นที่เล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้
  • พิณเพียะ หรือ พิณเปี๊ยะ มีสายจำนวน 2 – 4 สาย เข้าใจว่ามีวิวัฒนาการมาจากพิณน้ำเต้า โดยการเพิ่มจำนวนสายเข้าไป คันทวนยาวประมาณ 1 เมตร กระโหลกพิณทำด้วยผลน้ำเต้าตัดครึ่ง เช่นเดียวกับพิณน้ำเต้า หรือทำด้วยกะลามะพร้าวก็มี วิธีเล่นก็เช่นเดียวกับการเล่นพิณน้ำเต้า ในสมัยก่อน ตามท้องถิ่นต่าง ๆ ในแถบภาคเหนือของไทย เคยปรากฏมีผู้เล่นพิณเพียะในขณะที่ไป “เกี้ยวสาว” โดยการดีดพิณคลอเสียงขับร้อง

กระจับปี่ เป็นเครื่องดีดมี 4 สาย เมื่อพิจารณารูปร่างของเครื่องดนตรีชนิดนี้แล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะมีวิวัฒนาการมาจากพิณ 4 สาย (พิณพื้นเมืองของภาคเหนือ และภาคอีสาน ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากพิณเพียะอีกทีหนึ่ง) โดยการประดิษฐ์ขัดเกลา รูปร่างให้ปราณีต สวยงามขึ้น เหมาะสมกับการที่จะนำไปใช้ในพระราชสำนัก สำหรับพระราชพิธีต่าง ๆ ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงกระจับปี่ไว้ในกฏมณเฑียรบาล ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยาว่า “…ร้องเพลงเรือ เป่าปี่ เป่าขลุ่ย สีซอ ดีดจะเข้ กระจับปี่ ตีโทน ทับโห่ร้องนี่นั่น…” คำว่า “กระจับปี่” คงจะมาจากคำว่า “กัจฉปิ” ในภาษาชวา โดยที่คำว่า กัจฉปิ ก็มาจากคำว่า “กัจฉปะ” ในภาษาบาลีสันสกฤต ซึ่งแปลว่า “เต่า” ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ กะโหลกมีรูปร่างคล้ายกระดองเต่า ต่อมาไทยจึงเรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้เป็น “กระจับปี่” ในที่สุด

เกราะ เป็นเครื่องตีทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ยาว 1 ปล้อง ไว้ข้อหัวท้าย คว้านกระบอกผ่าบากท้องปล้องยาวไปตามลำ ใช้ตีด้วยไม้ไผ่ ผ่าซีกหรือ ไม้แก่น มือหนึ่งถือเกราะ อีกมือหนึ่งถือไม้ตี อย่างที่เรียกว่า “ตีเกราะ เคาะไม้” เพราะใช้สำหรับตีบอกเวลา และเป็นอาณัติสัญญาณบอกเหตุ หรือนัดหมายการประชุมตามหมู่บ้านในสมัยก่อน ไม่เคยปรากฏว่าใช้บรรเลงร่วมในวงดนตรี

โกร่ง เป็นเครื่องรีทำด้วยไม้ไผ่ เช่นเดียวกับเกราะแต่ใช้ไม้ไผ่จำนวนหลายปล้อง (ยาวประมาณ 1 – 2 วา) ปากเป็นรูยาวไปตามปล้องไม้ไผ่ (เว้นตรงข้อ) ทุกปล้อง เวลาตีวางลำราบไปตามพื้นโดยมีไม้รองหัวท้าย (บางทีถ้าเป็นโกร่งขนาดยาวมาก ต้องมีไม้รองตอนกลางด้วย) ใช้ไม้ตีซึ่งเป็นซีกไม้ไผ่เกลากลมเกลี้ยง หรือจะใช้ซอไม้รวก หรือไม้แก่นเหลาขนาดเหมาะสมก็ได้ โกร่งใช้ตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์ประกอบการแสดงโขน และหนังใหญ่โดยเฉพาะในการบรรเลงเพลงกน้าพาทย์ตอนตรวจพบ และในสมัยก่อนใช้ตีประกอบการร้องเชิญแม่ศรี ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ฆ้องราง เป็นเครื่องตีที่เข้าใจว่าวิวัฒนาการมาจากฆ้องคู่ โดยเพิ่มจำนวนลูกเป็น 7 ลูก ผูกเรียงหนึ่งไปตามความยาวของราง เทียบเสียงเรียงต่ำไปหาสูงตามลำดับครบ 7 เสียง บางรางอาจมีฆ้อง 8 ลูก ปัจจุบันฆ้องชนิดนี้ไม่ได้นำมาใช้บรรเลงแล้ว

กลองชนะ มีรูปร่าง และ ส่วนประกอบ เช่นเดียวกับ กลองแขก และกลองมลายู แต่ ตัวกลอง สั้น และ อ้วนกว่ากลองทั้ง 2 ดังกล่าว ตามลำดับ และ มีการ ทาสี ปิดทอง เขียนลาย ไว้ที่ตัวกลอง และที่หน้ากลองด้วย เวลาตี ใช้ไม้ งอโค้ง ตีเหมือน กลองมลายู แต่เดิมคงใช้กลองชนิดนี้ตีเป็นจังหวะ ในการฝึกหัดเพลงอาวุธสำหรับทหาร จึงเรียกชื่อว่า “กลองชนะ” เพื่อเป็นมงคลนิมิตแก่กองทัพ ต่อมา ใช้เป็น เครื่องประโคม ในกระบวน เสด็จพยุหยาตรา และใช้ประโคม พระบรมศพ และศพเจ้านายด้วย

บัณเฑาะว์ เป็นกลองชนิดหนึ่ง เข้าใจว่าไทยเราคงจะได้เครื่องดนตรีนี้มาจากอินเดีย เพราะคำว่าบัณเฑาะว์มาจากคำบาลีว่า “ปณวะ” ปรากฏหลักฐานมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว ตัวกลองทำด้วยไม้จริง หัวและท้ายใหญ่มีหบังขึ้นหน้าไว้ทั้ง 2 ด้าน ตรงกลางคอดและมีหลักยาว ทำด้วยไม้หรืองา ยึดติดไว้ด้านหนึ่งเป็นด้ามสำหรับถือ ตรงปลายด้ามใช้เชือกผูก โดยที่ปลายเชือกนี้ผูกลูกตุ้มเล็ก ๆ ไว้ เวลาเล่นใช้มือถือไกวด้วยการพลิกข้อมือกลับไปกลับมา ลูกตุ้มที่ปลายเชือกโยนตัวไปมา กระทบหน้ากลองทั้ง 2 ข้าง บัณเฑาะว์ใช้ไกวเป็นจังหวะในการบรรเลง “ขับไม้” ในงานพระราชพิธี เช่น สมโภชพระมหาเศวตฉัตร สมโภชพระยาช้างเผือก เป็นต้น ทั้งนี้อาจใช้บัณเฑาะว์ลูกเดียว หรือ 2 ลูก ก็ได้

มโหระทึก เป็นกลองชนิดหนึ่ง มีหน้าเดียว และหล่อด้วยโลหะ ไม่ขึงหนังเหมือนกลองทั่ว ๆ ไป ตัวกลองเป็นโลหะผสมประกอบด้วย ทองแดง ตะกั่ว และดีบุกผสมตามเกณฑ์ แล้วหลอมเทหล่อลงในแบบที่ทำไว้ บนหน้ากลองมีโลหะหล่อเป็นตัวกบอยู่ประจำ 4 ทิศ ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่า กลองชนิดนี้แต่เดิมคงสร้างขึ้นสำหรับตีขอฝน เพราะเชื่อกันว่า เมื่อกบร้องแล้วจะเป็นเหตุให้ฝนตก (เสียงกลองเป็นเสมือนเสียงกบร้อง) กลองมโหระทึกนี้ ไทยเรานิยมใช้ตีประโคมทั้งงานหลวง และงานราษฎร์มาแต่โบราณ (ปรากฏหลักฐานมีกล่าวถึงไว้ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงสมัยสุโขทัย) และในปัจจุบันยังคงใช้ตีประโคมร่วมกับแตรสังข์ ในงานพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น ในโอกาสที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรา เป็นต้น ในการใช้ไม้ตี 2 อัน ทำด้วยไม้รวก หรือไม้จริงเหลากลมเกลี้ยง ขนาดพอเหมาะ ตรงปลายที่ใช้ตีพันด้วยผ้าจนแน่นแล้วผูกเคียน หรือถักด้วยด้าย

ปี่อ้อ เป็นปี่โบราณของไทยอย่างหนึ่ง ตัวปี่ (เลา) ทำด้วยไม้รวกปล้องเดียว ไม่มีข้อ ยาวประมาณ 24 ซม. เขียนลวดลายด้วยการลนไฟให้ไหม้เกรียมเฉพาะที่ต้องการ หัวท้ายเลี่ยมด้วยทองเหลือง หรือเงิน เพื่อป้องกันมิให้แตกง่าย ด้านหน้าเจาะรูสำหรับปิดปรือเปิดนิ้ว เปลี่ยนเสียง 7 รู และด้านหลังมีรูนิ้วค้ำ (เช่นเดียวกับขลุ่ย) อีก 1 รู ลิ้นทำด้วยไม้อ้อลำเล็ก ๆ ยาวประมาณ 5 ซม. ด้านหนึ่งเหลาให้บาง อีกด้านหนึ่งกลม และมีด้ายพันเพื่อให้กระชับพอดีกับรูปี่ เดิมเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในวงเครื่องสาย ภายหลังนิยมใช้ขลุ่ยในวงเครื่องสาย ปี่อ้อจึงหาย

ปี่ไฉน เป็นปี่ 2 ท่อน สวมต่อกัน ท่อนบนเรียวยาวเรียก “เลาปี่” ท่อนล่างบานปลายเรียก “ลำโพง” ทำด้ายไม้และงาก็มี ที่เลาปี่มีรูสำหรับปิดเปิดนิ้วเปลี่ยนเสียง 7 รู รูนิ้วด้านหลังอีก 1 รู ลิ้นปี่ทำเหมือนลิ้นปี่ไทย คือ มีกำพวดผูกลิ้นใบตาลเหมือนกัน แต่มี “กระบังลม” ซึ่งทำด้วยโลหะหรือกะลา สวมไว้ด้วยสำหรับรองลมฝีปากในขณะเป่า เข้าจว่าไทยได้แบบอย่างปี่ชนิดนี้มา จากอินเดีย ปัจจุบันปี่ไฉนใช้ในงานพระราชพิธี เช่น ใช้เป่านำในขบวนแห่พระบรมศพ หรือศพเจ้านาย

แตร เป็นเครื่องเป่าที่ทำด้วยโลหะ ใช้ในงานพระราชพิธีมาแต่โบราณ มี 2 ชนิด คือ แตรงอน และ แตรฝรั่ง

  • แตรงอน มีรูปร่างโค้งงอน ตอนปลายบาน เข้าใจว่าประดิษฐ์ขึ้นโดยเลียนแบบมาจากเขาสัตว์ ซึ่งเป็นเครื่องเป่าดั้งเดิมของมนุษย์ ไทยเราคงจะได้แบบอย่างเครื่องดนตรีนี้มาจากอินเดีย เพราะอินเดียมีแตรรูปนี้สำหรับเป่าเป็นสัญญาณในขบวนแห่ และในงานพระราชพิธี ปัจจุบันแตรงอนใช้เป่าร่วมกับสังข์ในงานพระราชพิธี เช่น ในงานเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตรา และในขบวนแห่อื่น ๆ ในการนี้จะต้อง “เป่าแตรสังข์” เป็นเครื่องประโคมสำหรับพระราชอิสริยยศด้วย
  • แตรฝรั่ง มีลักษณะปากบานคล้ายดอกลำโพง ในหนังสือ กฎมณเฑียรบาล โบราณเรียกแตรชนิดหนึ่งว่า “แตรลางโพง” และในหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ 1 เรียกว่า “แตรวิลันดา” คงจะเป็นแตรที่ชาวฮอลันดานำเข้ามาเมืองไทยเป็นครั้งแรก เข้าใจว่าคงเป็นแตรชนิดเดียวกันนี้ และเหตุที่เรียกเครื่องดนตรีนี้ว่า “แตร” นั้นคงจะเรียกตามเสียงที่ได้ยิน แตรฝรั่งใช้เป่าร่วมกับแตรงอน และสังข์ ในงานพระราชพิธีเช่นกัน

สังข์ เป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่ง ทำจากเปลือกหอยสังข์ โดยนำมาขัดให้เกลี้ยงเกลา แล้วเจาะก้นหอยให้ทะลุเป็นรูสำหรับเป่า ไทยเราคงได้แบบอย่าง และการใช้เครื่องดนตรีชนิดนี้มาจากอินเดีย การเป่าสังข์ ถือว่าเป็นของขลังศักดิ์สิทธิ์ ใช้เฉพาะงานทีมีเกียรติศักดิ์สูง และใช้เป่าคู่กันกับแตรมาตลอด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *