ในปัจจุบันเมื่อพูดถึง เครื่องดนตรีไทย เรามักจะเข้าใจกันแต่เพียง เครื่องดนตรี ที่ใช้บรรเลงกันอยู่ใน วงดนตรีไทย ทั่ว ๆ ไปเท่านั้น
ความจริงแล้ว เครื่องดนตรีไทย ยังมีอีก มากมาย รวมถึง เครื่องดนตรีไทย โบราณ ที่เลิกใช้แล้ว หรือ เครื่องดนตรีไทย ที่ใช้ใน งานพระราชพิธีต่าง ๆ และ เครื่องดนตรีพื้นเมือง ของภาคต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อ ที่จะได้รู้จัก และมีความรู้ เกี่ยวกับ เครื่องดนตรีไทย กว้างขวาง ขึ้น ต่อไปนี้ จะได้กล่าวถึง เครื่องดนตรีไทย
โดยแยกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
- เครื่องดนตรีไทย ที่ใช้บรรเลงกันอยู่ใน วงดนตรีไทย ในปัจจุบัน
- เครื่องดนตรีไทยโบราณ และ เครื่องดนตรีไทยที่ใช้ในงานพระราชพิธี
- เครื่องดนตรีไทยพื้นเมือง
เครื่องดนตรีไทย ที่ใช้บรรเลงกันอยู่ในวงดนตรีไทยในปัจจุบัน ได้แก่
เครื่องดีด
เครื่องดนตรีไทย ประเภทเครื่องดีด ที่ยังนิยมใช้บรรเลงกันอยู่ใน วงดนตรีไทย ในปัจจุบันนี้ มีอยู่ชนิดเดียว คือ จะเข้
จะเข้ เป็นเครื่องดีดที่มีเสียงกันวานไพเราะมาก เข้าใจกันว่า จะเข้ ได้รับการปรับปรุงมาจากพิณ เพื่อให้นั่งดีดได้สะดวกและไพเราะ จึงวางราบไปตามพื้น
ตัวจะเข้ ทำด้วยไม้แก่นขนุนท่อนเดียวกัน มีเท้ารองตอนหัว 4 อัน และปลายหางอีก 1 อัน มี 3 สาย เป็นลวดทองเหลือง 1 สาย และสายเอ็น 2 สาย ใช้ดีดด้วยไม้ดีดกลมปลายแหลม ทำด้วยกระดูกสัตว์หรืองา เวลาดีดเคียนไม้ดีดด้วยเส้นด้าย ติดกับปลายนิ้วชี้ของผู้ดีด และใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลาง ช่วยกันจับเพื่อให้มีกำลัง
จะเข้ ใช้บรรเลงร่วมใน วงเครื่องสาย และ วงมโหรี หรือใช้บรรเลงเดี่ยวประกอบการแสดง “ฟ้อนแพน”
เครื่องสี
เครื่องสี เป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลง หรือเล่นโดยใช้คันชักเข้ากับสาย เกิดขึ้นภายหลังเครื่องดีด อันได้แก่ เครื่องดนตรีไทย ที่เรียกว่า “ซอ” ซอที่ใช้อยู่ในวงดนตรีไทยมี 3 ชนิด คือ ซอสามสาย ซออู้ และ ซอด้วง
ซอสามสาย เป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยาก แต่เป็นที่นิยมกันว่า ไพเราะ และสอดคล้องเข้ากับ เสียงขับร้อง ของนักดนตรีไทย ยากที่จะหาเครื่องดนตรีอื่นเทียบเคียงได้ กระโหลก ซอสามสาย ทำด้วย กะลามะพร้าว ชนิดพิเศษ คือมีกะลานูนเป็นกะพุ้งออกมา 3 ปุ่ม คล้ายวงแหวนสามอัน วางอยู่ในรูป สามเหลี่ยม จึงเป็น 2 เส้า ผ่ากะลาให้เหลือปุ่ม 3 เส้าเป็นกะโหลกซอ แล้วขึงหนังแพะหรือหนังลูกวัวปิดปากกะลา ส่วนประกอบที่สำคัญของ ซอสามสาย มี “หย่อง” เป็นไม้สำหรับหนุนสายตรงหนังหน้าซอ และ “ถ่วงหน้า” ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญมาก ใช้ติดตรงหนังหน้าซอตอนบนด้านซ้าย ช่วยให้เสียงซอมีความไพเราะขึ้น ปกติทำด้วยเงินลงยา หรือทำด้วย ทองคำ ฝังเพชรก็มี คันชัก ซอสามสาย เป็นรูปโค้ง โคนตรงมือถืองอน แยกต่างจากตัวซอ ซอสามสาย ใช้บรรเลงร่วมใน วงมโหรี หรือบรรเลงคลอกับคนร้อง
ซออู้ เป็นซอ 2 สาย ตัวกะโหลกซอทำด้วยกะลามะพร้าว ชนิดกลมรีขนาดใหญ่ ใช้หนังแพะ หรือหนังลูกวัว ขึงขึ้นหน้า คันซอ หรือ ทวน ทำด้วยไม้จริง เช่น ไม้แก้ว หรือ ทำด้วยงาตันก็มี ซออู้ที่หน้าซอ ที่ตรงกลางที่ขึ้นหนัง ใช้ผ้าม้วนกลม ๆ เป็นหมอนหนุนสาย ให้พันหน้าซอ คันชัก ทำด้วยไม้จริง หรืองา ใช้ขนหางม้าประมาณ 160-200 เส้น สำหรับขึ้นสายคันชัก เหมือนสายกระสุน หรือ หน้าไม้ ซออู้ ใช้บรรเลงร่วมใน วงเครื่องสาย วงมโหรี วงปี่พาทย์ไม้นวม และ วงปี่พาทย์ ดึกดำบรรพ์
ซอด้วง เป็นซอ 2 สาย เช่นกัน ทั้งทวนและคันชักทำอย่างเดียวกับ ซออู้แต่ขนาดย่อมกว่าและสั้นกว่าเล็กน้อย กะโหลกซอด้วงเดิมทำด้วยกะโหลกไม้ไผ่ ต่อมาใช้ไม้จริงและงา ที่นิยมว่าเสียงดีนั้น ทำด้วยไม้ลำเจียก ใช้หนัง งูเหลือมขึงหน้าซอ เนื่องจากลักษณะกะโหลกซอด้วง คล้ายเครื่องดักสัตว์ที่เรียกว่า “ด้วง” เช่น เครื่องดักแย้ จึงเรียกชื่อตามรูปร่างลักษณะนั่นเอง ซอด้วงมีเสียงสูง ดังแหลมกว่าซออู้ ใช้บรรเลงวงเครื่องสาย และ วงมโหรี