นางสำมนักขา, สุพรรณมัจฉา, นางเบญกาย, นางมณโฑ, สดายุ ตัวละคร รามเกียรติ์ # 5

นางสำมนักขา เป็นยักษ์ กายสีเขียว เป็นน้องร่วมมารดาคนสุดท้องของทศกัณฐ์ สามีชื่อชิวหา ต่อมาชิวหาถูกทศกัณฐ์ขว้างจักรตัดลิ้นขาดถึงแก่ความตาย นางสำมนักขาจึงเป็นม่าย มีความว้าเหว่ออกท่องเที่ยวไปจนได้พบพระราม นางเห็นพระรามรูปงามก็นึกรักอยากได้ไปเป็นคู่ครอง ถึงกับตบตีนางสีดาดวยความหึงหวงจึงถูกพระลักษมณ์ตัดหู จมูก มือและเท้าแล้วไล่ไปนางสำมนักขากลับไปฟ้องพี่ชาย คือ ทูษณ์ ขร และตรีเศียร ว่าถูกพระรามข่มเหง แต่ยักษ์ทั้ง 3 ตน ก็ถูกพระรามสังหาร นางสำมนักขาจึงไปหาทศกัณฐ์ ชมโฉมนางสีดาให้ฟัง จนทศกัณฐ์นึกอยากได้เป็นชายา จนกระทั่งไปลักพานางสีดามา

สุพรรณมัจฉา เป็นลูกของทศกัณฐ์กับนางปลา รูปร่างท่อนบนของนางจึงเป็นมนุษย์ ส่วนท่อนล่างเป็นปลา เมื่อพระรามสั่งหนุมานให้พาบริวารลิงขนหินมาถมสมุทร เพื่อทำถนนข้ามไปกรุงลงกาทศกัณฐ์ก็สั่งให้นางสุพรรณมัจฉากับพวกปลาทั้งหลาย ช่วยกันขนหินไปทิ้ง หนุมานมีความสงสัยดำน้ำลงไปดูจึงพบนางสุพรรณมัจฉา ทั้งสองมีความรักต่อกัน นางจึงยอมเป็นภรรยาของหนุมาน ต่อมา นางสุพรรมัจฉา ตั้งครรภ์และคลอดบุตรชายชื่อมัจฉานุ

นางเบญกาย เป็นธิดาของพิเภกกับนางตรีชฎา ทศกัณฐ์ ได้ใช้ให้ นางเบญกาย แปลงเป็นสีดา ลอยน้ำมาเพื่อลวงให้ พระรามเลิกทัพกลับไป พระราม ลงสรงน้ำ เห็นศพลอย มาติดท่าน้ำคิดว่า นางสีดาตายจริง ๆ ก็เสียพระทัย แต่หนุมานสงสัย ทูลขออนุญาตนำศพขึ้นมาเผาไฟ นางเบญกาย ทนความร้อนไม่ไหว จึงเหาะหนีไป หนุมานตามไปจับตัวมาถวายพระรามได้ พระราม เห็นแก่พิเภก จึงให้หนุมาน พานางไปส่งที่กรุงลงกา ระหว่างทาง หนุมานพูดจาเกี้ยวพาราสี จนได ้นางเบญกาย เป็นภรรยา เวลาต่อมาหลังจากเสร็จศึกแล้วนางมีบุตรชายกับหนุมานชื่ออสุรพัต

นางมณโฑ เป็นมเหสีของทศกัณฑ์ มีชาติกำเนิดเดิมเป็นกบ อาศัยอยู่ใกล้อาศรมของพระฤๅษี 4 ตน พระฤๅษีมักจะให้ทานน้ำนมนางกบอยู่เสมอ วันหนึ่ง นางกบ เห็นนางนาคมาคายพิษ ใส่อ่างน้ำนม เพื่อฆ่าพระฤๅษีทั้ง 4 นางจึงสละชีวิต กระโดดลงไปกินนมในอ่างจนตาย พระฤๅษีได้ชุบชีวิตนางให้ฟื้นขึ้นเพื่อถามเรื่องราว เมื่อทราบความจริงแล้ว จึงชุบนางกบ ให้เป็นมนุษย์ มีความสวยงาม ตั้งชื่อให้ว่า มณโฑ (แปลว่ากบ) แล้วนำนาง ไปถวาย พระอุมา บนสวรรค์ ต่อมา พระอิศวรประทานนางมณโฑให้แก่ ทศกัณฐ์เป็นรางวัลตอบแทน ที่ยก เขาไกรลาส ให้ตั้งตรงเหมือนเดิมได้ แต่ถูกพาลีชิงนางไประหว่างทาง นางต้องไปเป็น ภรรยาของพาลีจนตั้งครรภ์ พระฤๅษีอังคัต จึงสั่งพาลี ให้คืนนาง ให้แก่ทศกัณฑ์โดยผ่าท้องนำทารก ไปฝากไว้ในท้องแพะ ต่อมาจึงเกิดเป็นองคต

สดายุ เป็นพญานก กายสีเขียว เป็นเพื่อนกับท้าวทศรถ วันหนึ่งสดายุ พบทศกัณฐ์อุ้มนางสีดาเหาะมา นางสีดาเรียกให้ช่วย สดายุ จึงเข้าต่อสู้กับทศกัณฐ์ เพื่อแย่งนางสีดา ทศกัณฐ์สู้ไม่ได้ สดายุมีความฮึกเหิมพูดอวดตนว่า ตนไม่เคย เกรงกลัวใครเลย นอกจากพระอิศวร พระนารายณ์และ พระธำมรงค์ของพระอิศวร ที่นางสีดาสวมอยู่เท่านั้น ทศกัณฐ์ จึงถอด พระธำมรงค์วงนั้น ขว้างไปถูก ปีกของสดายุหัก ได้รับบาดเจ็บสาหัส แล้วทศกัณฐ์ก็พานางสีดาไป สดายุทนความเจ็บปวด คาบพระธำมรงค์ รอจนพระรามตามมาถึง เมื่อทูลเรื่องราวทั้งหมดและถวายพระธำมรงค์แล้วสดายุก็สิ้นใจ

ทศกัณฐ์, กุมภกรรณ, อินทรชิต, ไมยราพ, มารีศ, วิรุณจำบัง ตัวละคร รามเกียรติ์ # 4

ทศกัณฐ์ ก็คือยักษ์นนทุกกลับชาติมาเกิดเพื่อรบกับพระนารายณ์ ซึ่งอวตารมาเกิดเป็นมนุษย์ธรรมดา ทศกัณฐ์ เป็นกษัตริย์แห่งกรุงลงกา ร่างกายเป็นยักษ์ มี 10 หน้า 20 มือ มีสีกายเป็นสีเขียว ไม่มีใครฆ่าให้ตายได้ เพราะถอดดวงใจใส่กล่องฝากไว้กับพระฤๅษีโคบุตรผู้เป็นอาจารย์ ทศกัณฐ์มีนิสัยเจ้าชู้ มีชายาและนางสนมมากมาย แต่ถึงกระนั้น เมื่อรู้ว่านางสีดาเป็นหญิงที่มีความงดงามมาก แม้นางจะมีพระสวามีอยู่แล้ว ก็ยังลักพาตัวไป จึงเป็นสาเหตุให้ต้องทำศึกกับพระราม จนญาติมิตรล้มตายไปเป็นจำนวนมาก และในที่สุดตนเองก็ถูกพระรามฆ่าตาย

กุมภกรรณ เป็นยักษ์กายสีเขียว มีหอกโมกขศักดิ์เป็นอาวุธ ได้ชื่อว่ากุมภกรรณ (หูหม้อ) เพราะมีร่างกายใหญ่โตจนเอาหม้อใส่ไว้ในหูได้ กุมภกรรณเป็นน้องร่วมมารดาของทศกัณฐ์ โดยเป็นพี่ของพิเภก ครั้งหนึ่ง กุมภกรรณออกรบกับพระลักษมณ์ ได้พุ่งหอกโมกขศักดิ์ไปถูกพระลักษมณ์จนสลบ แต่พิเภกและหนุมานช่วยแก้ไขให้ฟื้นได้ ต่อมา กุมภกรรณได้ทำพิธีทดน้ำ โดยเนรมิตรกายให้ใหญ่โตขวางทางน้ำไว้ เพื่อให้กองทัพของพระรามอดน้ำตาย แต่ถูกหนุมานทำลายพิธี ครั้งสุดท้าย กุมภกรรณออกรบกับพระราม ถูกศรของพระรามจนเสียชีวิต

อินทรชิต เป็นยักษ์มีกายสีเขียว เป็นโอรสของทศกัณฐ์กับนางมณโฑเดิมชื่อรณพักตร์ เมื่อสามารถรบชนะพระอินทร์ได้ ทศกัณฐ์พอใจมากจึงเปลี่ยนชื่อให้ว่า “อินทรชิต อินทรชิตมีชายาชื่อสุวรรณกันยุมา มีโอรส 2 องค์ คือ ยามลิวัน และกันยุเวก มีศรนาคบาศ ศรพรหมาสตร์ และศรวิษณุปาณัมเป็นอาวุธ ทั้งยังสามารถแปลงกายเป็นพระอินทร์ได้อีกด้วย พระพรหมเคยประทานพรว่า เวลาจะตายต้องตายบนอากาศ และอย่าให้ศีรษะขาดตกถึงพื้น มิฉะนั้นจะกลายเป็นไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก ต้องใช้พานแว่นฟ้าของพระพรหมมารองรับ โลกจึงจะปลอดภัย ดังนั้นเมื่อพระลักษมณ์จะแผลงศรไปตัดคออินทรชิต จึงตรัสสั่งให้องคตเอาพานแว่นฟ้ามาคอยรับ

ไมยราพ เป็นยักษ์ มีกายสีม่วงอ่อน เป็นญาติของทศกัณฐ์ ปกครองเมืองบาดาลอยู่ มีอาวุธ คือ กล้องยาสะกด ใช้สำหรับเป่าเพื่อสะกดให้กองทัพของข้าศึกหลับใหล ไมยราพ ถอดดวงใจ ใส่ตัวแมลงภู่ ซ่อนไว้บนยอดเขาตรีกูฏ จึงไม่มีใครฆ่าให้ตายได้ วันหนึ่งไมยราพไปพบมัจฉานุ ซึ่งนางสุพรรณมัจฉามาคลอดทิ้งไว้ที่หาดทราย จึงเก็บไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ต่อมา ไมยราพ ช่วยทศกัณฐ์ทำสงคราม โดยเป่ากล้องยา สะกดกองทัพ ของพระรามแล้ว จับพระรามไปขัง ไว้ที่เมืองบาดาล หนุมานตามลงไปช่วยพระรามและฆ่าไมยราพตายโดยจับตัวแมลงภู่มาขยี้

มารีศ เป็นยักษ์กายสีขาว เป็นบุตรของนางกากนาสูร มีศักดิ์เป็นน้าของทศกัณฐ์ เมื่อ ทศกัณฐ์ ได้ฟัง คำยอโฉมนางสีดาจากนางสำมนักขา ก็ให้หลงใหลอยากได้นางเป็นชายา จึงบังคับ มารีศ ให้แปลง เป็นกวางทองเดิน ไปให้นางสีดาเห็น นางสีดา อยากได้กวางทอง จึงอ้อนวอน ให้ พระราม ออกไปจับมาให้ พระรามใช้ศรยิงมารีศล้มลง มารีศแกล้งตัดเสียงเป็นพระรามร้องขึ้นดัง ๆ เหมือน ได้รับบาดเจ็บ นางสีดาได้ยินคิดว่าพระรามมีอันตรายขอให้พระลักษมณ์ตามไปช่วย แล้ว มารีศ ก็ขาดใจตาย

วิรุณจำบัง เป็นยักษ์ กายสีมอหมึก (สีขาวเจือดำ) เป็นบุตรของพญาทูษณ์แห่งกรุงจารึก จึงเป็นหลานของ ทศกัณฐ์ มีม้าคู่ใจชื่อนิลพาหุ ม้าตัวนี้มีอิทธิฤทธิ์ สามารถหายตัวได้ วิรุณจำบังยกทัพไปช่วยทศกัณฐ์ทำศึ่กกับพระราม โดยขี่ม้านิลพาหุ หายตัวเข้าไป ใน กองทัพของพระราม ลอบฆ่าพวกไพร่พลลิงตายไปเป็นจำนวนมาก พิเภก ถวาย คำแนะนำ ให้พระรามแผลงศรไปฆ่าม้านิลพาหุเสีย วิรุณจำบังหนีไปซ่อนตัวในฟองน้ำ แต่ก็ถูก หนุมานตามไปฆ่าตาย

องคต, มัจฉานุ, ชมพูพาน, อสุรพัต, พิเภก, นนทุก ตัวละคร รามเกียรติ์ # 3

องคต เป็นลิง มีกายสีเขียว เป็นบุตรของพาลีกับนางมณโฑ กล่าวคือ เมื่อพาลี แย่งนางมณโฑ มาจากทศกัณฐ์แล้ว นางต้องเป็นภรรยาของพาลีจนกระทั่งตั้งครรภ์ ทศกัณฐ์ ไปฟ้องฤๅษีอังคัตผู้เป็นอาจารย์ ของพาลีให้มาว่ากล่าวพาลี จนพาลียอมคืน นางมณโฑให้ แต่ขอลูกเอาไว้ ฤๅษีอังคัต จึงทำพิธีเอาลูกออกจากท้องนางมณโฑไปใส่ในท้องแพะ เมื่อครบ กำหนดคลอดพระฤๅษีก็ทำพิธีให้ออกจากท้องแพะให้ชื่อว่า องคต ทศกัณฐ์ยังผูกใจเจ็บ จึงแปลงกายเป็นปูยักษ์ คอยอยู่ก้นแม่น้ำเพื่อจะฆ่าองคตขณะทำพิธีลงสรง แต่ถูกพาลีจับได้ แล้วเอามาผูกไว้ให้ลูกลากเล่นอยู่เจ็ดวันจึงปล่อยไป เมื่อสุครีพขอให้พระรามมาช่วยปราบพาลี ก่อนที่พาลีจะสิ้นใจตาย ได้สำนึกตนว่าทำผิดต่อสุครีพ ทั้งไม่รักษาคำสัตย์ สาบาน จึงได้ทูล ฝากฝังสุครีพและองคต ไว้กับพระราม องคต ได้ช่วยทำศึก กับกองทัพของทศกัณฐ์ อย่างเต็มความสามารถ พระรามเคยส่งองคต เป็นทูตไปเจรจากับทศกัณฐ์ เพื่อทวง นางสีดาคื นแม้จะไม่สำเร็จ แต่ก็ได้แสดงความเฉลียวฉลาดและความกล้าหาญ ให้ประจักษ์แก่ตาของทศกัณฐ์

มัจฉานุ เป็นบุตรของหนุมานกับนางสุพรรณมัจฉา จึงมีร่างกาย เป็นลิงเผือก เช่นเดียวกับหนุมาน แต่มีหางเป็นปลา เมื่อ นาง สุพรรณมัจฉา คลอดมัจฉานุออกมาแล้ว ก็กลัวทศกัณฐ์จะรู้ จึงนำมัจฉานุไปทิ้งที่ชายหาด มัยราพณ์ ซึ่งเป็นญาติกับ ทศกัณฐ์ มาพบเข้ามีความสงสาร ได้นำไปเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม ต่อมา มัยราพณ์ลักพาตัว พระรามมาไว้ที่เมืองบาดาล หนุมานติดตามมาช่วย ได้พบกับมัจฉานุจึงต่อสู้กัน แต่ ไม่สามารถเอาชนะกันได้ จนกระทั่งได้รู้ว่าเป็นพ่อลูกกัน

ชมพูพาน เป็นลิง กายสีหงส์ชาด เกิดจาก พระอิศวร นำเหงื่อไคล ของพระองค์ มาทำการชุบขึ้น มีความรู้เรื่องยาต่าง ๆ สำหรับเป็นแพทย์ประจำกองทัพของพระราม ชมพูพานเคยรับพระบัญชาของพระราม ออกช่วยงานสงครามหลายครั้ง

อสุรพัต เป็นบุตรของหนุมานกับนางเบญกาย มีหน้าเป็นลิง แต่ศีรษะและตัวเป็นยักษ์ กาย สีเหลืองเลื่อม ๆ เมื่อพิเภกซึ่งเป็นตา ถูกท้าวจักรวรรดิกับไพนาสุริยวงศ ์จับไปขังไว้ อสุรพัต จึงหนีมาหาหนุมาน เล่าเรื่องราวให้ฟัง พระรามจึงโปรดให้ พระพรต กับ พระสัตรุด ยก กองทัพ ไปปราบ ซึ่งเป็นการทำศึกกับกรุงลงกาครั้งที่สอง เมื่อเสร็จศึกแล้ว พระราม ได้แต่งคั้งให้อสุรพัต มีตำแหน่งเป็น พระยามารนุราชมหาอุปราช แห่งกรุงลงกา

พิเภก คือ เทพบุตรเวสสุญาณ จุติลงมาเกิดเพื่อช่วยพระรามปราบทศกัณฐ์ พิเภกเป็นยักษ์มีกายสีเขียว เป็นน้องของทศกัณฐ์ มีความรู้ทางโหราศาสตร์อย่างยอดเยี่ยม สามารถทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ เมื่อทศกัณฐ์ลักพานางสีดามา พิเภกได้ทูลตักเตือนและแนะนำให้ส่งนางสีดาคืนไป ทำให้ทศกัณฐ์โกรธมาก จนขับไล่พิเภกออกไปจากเมืองพิเภกจึงไปสวามืภักดิ์กับพระราม ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์จนกระทั่งพระรามชนะสงคราม หลังจากเสร็จศึกแล้ว พระรามได้สถาปนาให้พิเภกเป็นกษัตริย์ครองกรุงลงกา มีพระนามว่า ท้าวทศคีรีวงศ์

นนทุก เป็นยักษ์ที่ทำหน้าที่ล้างเท้าเทวดาอยู่ที่เชิงเขาไกรลาส ถูกพวกเทวดาแกล้งตบหัวบ้าง ถอนผมบ้าง จนหัวโล้น นนทกมีความแค้นมาก จึงเข้าเฝ้าพระอิศวรทูลขอพรให้มีนิ้วเป็นเพชร สามารถชี้ให้ผู้ใดตายก็ได้ จากนั้นนนทุกก็ใช้นิ้วเพชรชี้ให้เทวดา พญาครุฑ คนธรรพ์ ตายเกลื่อนกลาด พระนารายณ์จึงต้องไปปราบ ก่อนตายนนทุกต่อว่าพระนารายณ์ว่า ตนเอง มีเพียงสองมือเท่านั้น จะชนะ พระนารายณ์ที่มีถึงสี่กรได้อย่างไร พระนารายณ์ จึงประทานพร ให้แก่นนทุกไปเกิดเป็นยักษ์มีสิบหน้า ยี่สิบมือ แล้วพระองค์จะไปเกิดเป็นมนุษย์มีเพียงสองมือ เพื่อปราบนนทกในชาติใหม่ ให้หมดสิ้นทั้งวงศ์ยักษ์ นนทกจึงกลับชาติมาเกิดเป็นทศกัณฐ์

พระลักษมณ์, นางสีดา, พาลี, หนุมาน, สุครีพ, นิลพัท ตัวละคร รามเกียรติ์ # 2

พระลักษมณ์ คือ พญาอนันตนาคราช ที่ประทับของพระนารายณ์มาเกิด มีกายสีทอง พระลักษมณ์ เป็นพระโอรสของท้าวทศรถ และ นางสมุทรเทวี มีพระอนุชาร่วมพระมารดา คือ พระสัตรุตพระลักษมณ์มีความจงรักภักดีต่อพระรามมาก เมื่อพระรามต้องออกเดินป่าถึง 14 ปีพระลักษมณ์ก็ได้ติดตามไปด้วย และยังช่วยออกรบ กับกองทัพ ของกรุงลงกา อย่างกล้าหาญ หลายครั้งหลายหน

นางสีดา คือ พระลักษมี มเหสีของพระนารายณ์ อวตารลงมาเกิดเพื่อเป็นคู่ครองของพระราม ตามบัญชาของพระอิศวร นางสีดาเป็นพระธิดาของทศกัณฐ์กับนางมณโฑ แต่เมื่อประสูติแล้ว พิเภกได้ทำนายว่า นางเป็นกาลกิณีแก่พระบิดาและบ้านเมือง ทศกัณฐ์จึงสั่งให้นำนางใส่ผอบลอยน้ำไป พระฤาษีชนกพบเข้า จึงเก็บไปเลี้ยงเป็นลูก โดยฝังดินฝากพระแม่ธรณ๊ไว้ เวลาผ่านไปถึง 16 ปี พระฤาษีชนกเบื่อหน่ายการบำเพ็ญพรตคิดกลับไปครองกรุงมิถิลาเช่นเดิม จึงลาเพศพรหมจรรย์ไปขุดนางขึ้นมาและตั้งชื่อให้ว่า สีดา(แปลว่ารอยไถ) จากนั้นพานามเข้าเมืองมิถิลา จัดพิธียกศรคู่บ้านคู่เมืองเพื่อเสี่ยงทายหาคู่ครองให้นางสีดา พระรามยกศรได้จึงได้อภิเษกสมรสกับนางสีดา

พาลี เป็นลิงมีกายสีเขียว เป็นโอรสของพระอินทร์กับนางกาลอัจนา ถูกฤๅษีโคดม สาปให้กาย เป็นลิงพร้อม ๆ กับสุครีพผู้เป็นน้อง หลังจากที่ ฤๅษีรู้ความจริง ว่าทั้งสองเป็นลูกชู้ พระอินทร์ สงสารโอรส ที่ต้องซัดเซพเนจรอยู่ในป่า จึงสร้างเมืองขีดขินให้ปกครอง และตั้งนาม ให้โอรสว่าพระยากากาศ (ซึ่งภายหลังได้นามใหม่ว่าพาลี) แล้วให้สุครีพเป็นมหาอุปราช ครั้งหนึ่ง พระอิศวรฝากนางดารามากับพาล ีเพื่อเป็นรางวัลให้สุครีพ แต่พาลี กลับยึดนาง ไว้เป็นภรรยาของตนเสียเอง และต่อมาพาลี ก็ยังแย่ง นางมณโฑมาจาก ทศกัณฐ์ขณะทศกัณฐ์ พานางเหาะผ่านเมืองขีดขิน ภายหลังพาลี ถูกพระรามสังหาร ด้วยศรจนสิ้นชีวิต

หนุมาน เป็นลิงเผือก (กายสีขาว) มีลักษณะพิเศษ คือ มีเขี้ยวแก้วอยู่กลางเพดานปาก มีกุณฑลขนเพชร สามารถแผลงฤทธิ์ให้มีสี่หน้าแปดมือ และหาวเป็นดาวเป็นเดือนได้ ใช้ตรีเพชร(สามง่าม) เป็นอาวุธประจำตัว(จะใช้เมื่อรบกับยักษ์ตัวสำคัญ ๆ) มีความเก่งกล้ามาก สามารถแปลงกายหายตัวได้ ทั้งยังอยู่ยงคงกระพัน แม้ถูกอาวุธของศัตรูจนตาย เมื่อมีลมพัดมา ก็จะฟื้นคืนได้อีก เมื่อนางสวาหะ ถูกมารดาสาปให้ไปยืนตีนเดียวเหนี่ยวกินลม พระอิศวร จึงบัญชาให้พระพาย นำเทพอาวุธของพระองค ์ไปซัดเข้าปากของนาง นาง จึงตั้งครรภ์และ คลอดบุตร เป็นลิงเผือกเหาะออกมาจากปาก ได้ชื่อว่า หนุมาน หนุมานจึงถือว่า พระพาย เป็นพ่อของตน หนุมาน ได้ถวายตัว เป็นทหารเอกของ พระราม ช่วยทำการรบ จนสิ้นสงคราม

สุครีพ เป็นลิงมีกายสีแดง มีศักดิ์เป็นน้าของหนุมาน สุครีพ เป็นลูก ของพระอาทิตย์ กับนางกาลอัจนา เมื่อพระฤๅษีโคดมรู้ความจริงจากนางสวาหะว่าสุครีพไม่ใช่ลูกของตน แต่เป็นลูกชู้ จึงสาปให้กลายเป็นลิงพร้อมกับพาลีผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งเป็นลูกของพระอินทร์ แล้วไล่ให้เข้าป่าไป ต่อมาสุครีพได้เป็นทหารของพระราม ได้รับ ความไว้วางพระทัย จากพระราม ให้เป็นผู้จัดกองทัพออกสู้รบกับกองทัพของกรุงลงกาอยู่เสมอ

นิลพัท เป็นลิง กายสีน้ำรัก (สีดำสนิท) มีเขี้ยวแก้วเช่นเดียวกับหนุมานมีฤทธิ์เดชเก่งกล้ามาก เมื่อพระรามให้พวกวานรทำถนนข้ามไปกรุงลงกา นิลพัท กับ หนุมาน เกิดทะเลาะ วิวาท และต่อสู้กัน แต่ไม่มีใครเอาชนะได้ เพราะต่างก็มีฤทธิ์เดชเท่าเทียมกัน พระราม กริ้วมาก สั่งให้นิลพัทไปรักษาเมืองขีดขินคอยส่งเสบียงอาหารให้กองทัพของพระราม ส่วนหนุมาน ก็ให้ทำถนนให้เสร็จภายใน 7 วัน

พระอิศวร , พระอุมา, ท้าวมาลีวราช, พระอินทร์, พระนารายณ์, พระราม ตัวละคร รามเกียรติ์ # 1

พระอิศวร คือเทวดาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ มีกายสีเขียว แต่พระศอเป็นสีดำเพราะเคยดื่มยาพิษ มีพระเนตรถึง 3 ดวง ดวงที่ 3 อยู่กลางพระนลาฏ ซึ่งตามปกติจะหลับอยู่เนื่องจากพระเนตรดวงที่ 3 นี้มีอานุภาพร้ายแรงมาก หากลืมขึ้นเมื่อใด จะเผาผลาญทุกอย่างให้มอดไหม้ได้
พระมเหสีของพระองค์ คือ พระอุมา มีพระราชโอรสด้วยกัน 2 พระองค์ คือ พระขันทกุมารและพระพิฆเณศ พระอิศวร มีนาคเป็นสังวาล มีพระจันทร์เป็นปิ่น อาวุธประจำพระองค์คือตรีศูล (หลาวสามง่าม) พาหนะของพระองค์ คือ โคอุศุภราช พระองค์ยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น พระศุลี พระศิวะ พระภูเตศวร พระตรีเนตร พระสยมภู พระมหาเทพ พระวิศานาถ พระมเหศวร เป็นต้น

พระอุมา เป็นมเหสีของพระอิศวร มีสองภาคคือ ภาคใจดี กับ ภาคดุร้าย พระอุมาในภาค ใจดี เป็นหญิงสาว ที่มีรูปโฉมงดงามมาก ส่วนในภาคดุร้าย จะมีรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว มีหัวกะโหลก มนุษย์ห้อยที่พระศอ มี 10 กร แต่ละกรถืออาวุธต่าง ๆ กัน ทั้งยังมีจิตใจโหดเหี้ยมมาก แม้แต่ พระอิศวรเองก็ยังเกรงพระอุมาในภาคดุร้ายนี้ พระนามของ พระอุมา ในภาคดุร้าย มีชื่อเรียกอย่างอื่นเช่น ทุรคา กาลี จัณฑี เป็นต้น

ท้าวมาลีวราช หรือมาลีวัคคพรหม เป็นพรหมมี 4 พักตร์ 8 กร มีความยุติธรรมมาก จึงได้รับพร จาก พระอิศวรให้มี วาจาสิทธิ์ ท้าวมาลีวราช มีศักดิ์เป็นปู่ของ ทศกัณฐ์ เมื่อทศกัณฐ์ ทำสงคราม กับพระราม ต้องสูญเสีย ญาติมิตร และ บริวาร เป็นจำนวนมาก ทศกัณฐ์หวังจะให้ ท้าวมาลีวราช สาปแช่งพระราม จึงฟ้องร้องต่อท้าวมาลีวราช ใส่ร้ายพระราม มากมาย ท้าวมาลีวราช ไม่ต้องการ ฟังความข้างเดียว จึงให้เชิญพระราม และนางสีดา ไปสอบสวน จนได้ความจริง ท้าวมาลีวราช สั่งให้ทศกัณฐ์คืน นางสีดาไป แต่ทศกัณฐ์ไม่ยินยอม ท้าวมาลีวราช โกรธมาก กล่าวคำสาปแช่งให้ทศกัณฐ์ต้องตาย ด้วยศรของพระราม

พระอินทร์ คือ เทวดาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กายสีเขียว มีพระเนตรถึงพันดวง ใช้วัชระ(สายฟ้า) เป็นอาวุธ มีช้างเอราวัณเป็นพาหนะ พระองค์มีมเหสี 4 องค์ คือ สุจิตรา สุธรรมา สุนันทา และสุชาดา พระอินทร์เป็นผู้ดูแลทุกข์สุขของมนุษยโลก ยามใดที่มีเรื่องเดือดร้อนขึ้นบนโลกมนุษย์ อาสนะของพระองค์ที่เคยอ่อนนุ่มก็จะแข็งกระด้าง หรือบางครั้งก็ร้อนจนไม่สามารถประทับอยู่ได้ พระอินทร์มีชื่อเรียกอย่างอื่น เช่น ท้าวสหัสนัยน์ ท้าวโกสีย์ ท้าวสักกะ เทวราช อมรินทร์ ศักรินทร์ มัฆวาน เพชรปาณี เป็นต้น

พระนารายณ์ เป็นเทวดาผู้เป็นใหญ่ฝ่ายปราบปราม มีกายสีดอกตะแบก มี 4 กรซึ่งกรทั้ง 4 นั้นถิออาวุธต่าง ๆ กัน คือ คฑา ตรี จักร สังข์ ประทับอยู่กลางเกษียรสมุทรบนหลังพญานาค ชื่อ อนันตนาคราช พระมเหสีของพระองค์คือพระลักษมี ทรงใช้ครุฑ เป็นพาหนะ พระนารายณ์ มี ชื่อเรียกอย่างอื่นอีก เช่น พระทรงครุฑ พระสี่กร พระทรงสังข์ พระวิษณุ พระธราธร พระสังขกร เป็นต้น

พระราม คือ พระนารายณ์อวตาร (แบ่งภาค) ลงมา ถือกำเนิด เป็น พระราชโอรส ของ ท้าวทศรถ กับนางเกาสุริยา แห่งกรุงอยุธยา เพื่อจะปราบปรามทศกัณฐ์ พระราม มีพระอนุชา ต่างพระมารดา 3 พระองค์ คือ พระพรต พระลักษมณ์ และพระสัตรุต พระมเหส ีของ พระราม คือ นางสีดา พระรามมีกายสีเขียว สามารถปรากฎร่างเป็นพระนารายณ์มีสี่กรได้ อาวุธประจำพระองค์ คือ ศร ซึ่งเป็นอาวุธวิเศษที่ได้ประทานมาจากพระอิศวร

เครื่องดนตรีไทย ที่ใช้ใน พระราชพิธี

เครื่องดนตรีไทยโบราณ และ เครื่องดนตรีไทย ที่ใช้ใน พระราชพิธี หมายถึง เครื่องดนตรีไทย ที่ไม่ได้นำมา ใช้บรรเลง ในวงดนตรีไทย ในปัจจุบันนี้แล้ว หรือใช้เป็น บางโอกาส บางอย่างก็เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ และบางอย่าง ก็สำหรับใช้บรรเลง เฉพาะในงานพระราชพิธีต่าง ๆ เท่านั้น เครื่องดนตรีไทย ประเภทนี้ ได้แก่

พิณ พิณเป็นเครื่องดนตรีที่มีกล่าวถึงไว้ในหลักศิลาจารึก ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในสมัยสุโขทัย ตอนหนึ่งว่า “เสียงพาทย์” “เสียงพิณ” เข้าใจว่าไทย คงจะได้รับแบบอย่างมาจากอินเดีย เพราะดูตามรูปศัพท์ของคำว่า “พิณ” เป็นคำในภาษาบาลี ของอินเดียและเข้าใจว่า พราหมณ์เป็นผู้นำเข้ามาเล่นกันก่อน เพราะมีเพลงไทยโบราณ เพลงหนึ่งชื่อว่า “พราหมณ์ดีดน้ำเต้า” พิณมี 2 ชนิด คือ

  • พิณน้ำเต้า เป็นพิณสายเดียว กระโหลกพิณทำจากผลน้ำเต้าผ่าครึ่ง เอาทางจุกหรือขั้วมาเจาะตรึงติดกับไม้คันพิณ หรือ “ทวน” ใช้สายยาวประมาณ 78 ซม. (เดิมเป็นสายหวายต่อมาใช้สายเอ็น) ขึผ่านจากด้านปลายไปยังด้านโคน (ด้านที่มีกระโหลก) ซึ่งมีลูกปิด 1 อัน สำหรับปิดสายให้ตึง หรือหย่อน เพื่อทำให้เสียงสูง หรือ ต่ำ วิธีเล่น เอากระโหลกพิณประกอบติดกับอกเบื้องซ้ายของผู้เล่น โดยใช้มือซ้ายจับคันทวน แล้วใช้มือกด หรือเผยอสายให้ตึงหรือหย่อน ใช้มือขวาดีดสายให้เกิดเสียง ดังนั้นผู้บรรเลงพิณจะต้องไม่สวมเสื้อ และคงจะต้องเป็นผู้ชายเท่านั้นที่เล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้
  • พิณเพียะ หรือ พิณเปี๊ยะ มีสายจำนวน 2 – 4 สาย เข้าใจว่ามีวิวัฒนาการมาจากพิณน้ำเต้า โดยการเพิ่มจำนวนสายเข้าไป คันทวนยาวประมาณ 1 เมตร กระโหลกพิณทำด้วยผลน้ำเต้าตัดครึ่ง เช่นเดียวกับพิณน้ำเต้า หรือทำด้วยกะลามะพร้าวก็มี วิธีเล่นก็เช่นเดียวกับการเล่นพิณน้ำเต้า ในสมัยก่อน ตามท้องถิ่นต่าง ๆ ในแถบภาคเหนือของไทย เคยปรากฏมีผู้เล่นพิณเพียะในขณะที่ไป “เกี้ยวสาว” โดยการดีดพิณคลอเสียงขับร้อง

กระจับปี่ เป็นเครื่องดีดมี 4 สาย เมื่อพิจารณารูปร่างของเครื่องดนตรีชนิดนี้แล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะมีวิวัฒนาการมาจากพิณ 4 สาย (พิณพื้นเมืองของภาคเหนือ และภาคอีสาน ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากพิณเพียะอีกทีหนึ่ง) โดยการประดิษฐ์ขัดเกลา รูปร่างให้ปราณีต สวยงามขึ้น เหมาะสมกับการที่จะนำไปใช้ในพระราชสำนัก สำหรับพระราชพิธีต่าง ๆ ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงกระจับปี่ไว้ในกฏมณเฑียรบาล ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยาว่า “…ร้องเพลงเรือ เป่าปี่ เป่าขลุ่ย สีซอ ดีดจะเข้ กระจับปี่ ตีโทน ทับโห่ร้องนี่นั่น…” คำว่า “กระจับปี่” คงจะมาจากคำว่า “กัจฉปิ” ในภาษาชวา โดยที่คำว่า กัจฉปิ ก็มาจากคำว่า “กัจฉปะ” ในภาษาบาลีสันสกฤต ซึ่งแปลว่า “เต่า” ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ กะโหลกมีรูปร่างคล้ายกระดองเต่า ต่อมาไทยจึงเรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้เป็น “กระจับปี่” ในที่สุด

เกราะ เป็นเครื่องตีทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ยาว 1 ปล้อง ไว้ข้อหัวท้าย คว้านกระบอกผ่าบากท้องปล้องยาวไปตามลำ ใช้ตีด้วยไม้ไผ่ ผ่าซีกหรือ ไม้แก่น มือหนึ่งถือเกราะ อีกมือหนึ่งถือไม้ตี อย่างที่เรียกว่า “ตีเกราะ เคาะไม้” เพราะใช้สำหรับตีบอกเวลา และเป็นอาณัติสัญญาณบอกเหตุ หรือนัดหมายการประชุมตามหมู่บ้านในสมัยก่อน ไม่เคยปรากฏว่าใช้บรรเลงร่วมในวงดนตรี

โกร่ง เป็นเครื่องรีทำด้วยไม้ไผ่ เช่นเดียวกับเกราะแต่ใช้ไม้ไผ่จำนวนหลายปล้อง (ยาวประมาณ 1 – 2 วา) ปากเป็นรูยาวไปตามปล้องไม้ไผ่ (เว้นตรงข้อ) ทุกปล้อง เวลาตีวางลำราบไปตามพื้นโดยมีไม้รองหัวท้าย (บางทีถ้าเป็นโกร่งขนาดยาวมาก ต้องมีไม้รองตอนกลางด้วย) ใช้ไม้ตีซึ่งเป็นซีกไม้ไผ่เกลากลมเกลี้ยง หรือจะใช้ซอไม้รวก หรือไม้แก่นเหลาขนาดเหมาะสมก็ได้ โกร่งใช้ตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์ประกอบการแสดงโขน และหนังใหญ่โดยเฉพาะในการบรรเลงเพลงกน้าพาทย์ตอนตรวจพบ และในสมัยก่อนใช้ตีประกอบการร้องเชิญแม่ศรี ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ฆ้องราง เป็นเครื่องตีที่เข้าใจว่าวิวัฒนาการมาจากฆ้องคู่ โดยเพิ่มจำนวนลูกเป็น 7 ลูก ผูกเรียงหนึ่งไปตามความยาวของราง เทียบเสียงเรียงต่ำไปหาสูงตามลำดับครบ 7 เสียง บางรางอาจมีฆ้อง 8 ลูก ปัจจุบันฆ้องชนิดนี้ไม่ได้นำมาใช้บรรเลงแล้ว

กลองชนะ มีรูปร่าง และ ส่วนประกอบ เช่นเดียวกับ กลองแขก และกลองมลายู แต่ ตัวกลอง สั้น และ อ้วนกว่ากลองทั้ง 2 ดังกล่าว ตามลำดับ และ มีการ ทาสี ปิดทอง เขียนลาย ไว้ที่ตัวกลอง และที่หน้ากลองด้วย เวลาตี ใช้ไม้ งอโค้ง ตีเหมือน กลองมลายู แต่เดิมคงใช้กลองชนิดนี้ตีเป็นจังหวะ ในการฝึกหัดเพลงอาวุธสำหรับทหาร จึงเรียกชื่อว่า “กลองชนะ” เพื่อเป็นมงคลนิมิตแก่กองทัพ ต่อมา ใช้เป็น เครื่องประโคม ในกระบวน เสด็จพยุหยาตรา และใช้ประโคม พระบรมศพ และศพเจ้านายด้วย

บัณเฑาะว์ เป็นกลองชนิดหนึ่ง เข้าใจว่าไทยเราคงจะได้เครื่องดนตรีนี้มาจากอินเดีย เพราะคำว่าบัณเฑาะว์มาจากคำบาลีว่า “ปณวะ” ปรากฏหลักฐานมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว ตัวกลองทำด้วยไม้จริง หัวและท้ายใหญ่มีหบังขึ้นหน้าไว้ทั้ง 2 ด้าน ตรงกลางคอดและมีหลักยาว ทำด้วยไม้หรืองา ยึดติดไว้ด้านหนึ่งเป็นด้ามสำหรับถือ ตรงปลายด้ามใช้เชือกผูก โดยที่ปลายเชือกนี้ผูกลูกตุ้มเล็ก ๆ ไว้ เวลาเล่นใช้มือถือไกวด้วยการพลิกข้อมือกลับไปกลับมา ลูกตุ้มที่ปลายเชือกโยนตัวไปมา กระทบหน้ากลองทั้ง 2 ข้าง บัณเฑาะว์ใช้ไกวเป็นจังหวะในการบรรเลง “ขับไม้” ในงานพระราชพิธี เช่น สมโภชพระมหาเศวตฉัตร สมโภชพระยาช้างเผือก เป็นต้น ทั้งนี้อาจใช้บัณเฑาะว์ลูกเดียว หรือ 2 ลูก ก็ได้

มโหระทึก เป็นกลองชนิดหนึ่ง มีหน้าเดียว และหล่อด้วยโลหะ ไม่ขึงหนังเหมือนกลองทั่ว ๆ ไป ตัวกลองเป็นโลหะผสมประกอบด้วย ทองแดง ตะกั่ว และดีบุกผสมตามเกณฑ์ แล้วหลอมเทหล่อลงในแบบที่ทำไว้ บนหน้ากลองมีโลหะหล่อเป็นตัวกบอยู่ประจำ 4 ทิศ ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่า กลองชนิดนี้แต่เดิมคงสร้างขึ้นสำหรับตีขอฝน เพราะเชื่อกันว่า เมื่อกบร้องแล้วจะเป็นเหตุให้ฝนตก (เสียงกลองเป็นเสมือนเสียงกบร้อง) กลองมโหระทึกนี้ ไทยเรานิยมใช้ตีประโคมทั้งงานหลวง และงานราษฎร์มาแต่โบราณ (ปรากฏหลักฐานมีกล่าวถึงไว้ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงสมัยสุโขทัย) และในปัจจุบันยังคงใช้ตีประโคมร่วมกับแตรสังข์ ในงานพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น ในโอกาสที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรา เป็นต้น ในการใช้ไม้ตี 2 อัน ทำด้วยไม้รวก หรือไม้จริงเหลากลมเกลี้ยง ขนาดพอเหมาะ ตรงปลายที่ใช้ตีพันด้วยผ้าจนแน่นแล้วผูกเคียน หรือถักด้วยด้าย

ปี่อ้อ เป็นปี่โบราณของไทยอย่างหนึ่ง ตัวปี่ (เลา) ทำด้วยไม้รวกปล้องเดียว ไม่มีข้อ ยาวประมาณ 24 ซม. เขียนลวดลายด้วยการลนไฟให้ไหม้เกรียมเฉพาะที่ต้องการ หัวท้ายเลี่ยมด้วยทองเหลือง หรือเงิน เพื่อป้องกันมิให้แตกง่าย ด้านหน้าเจาะรูสำหรับปิดปรือเปิดนิ้ว เปลี่ยนเสียง 7 รู และด้านหลังมีรูนิ้วค้ำ (เช่นเดียวกับขลุ่ย) อีก 1 รู ลิ้นทำด้วยไม้อ้อลำเล็ก ๆ ยาวประมาณ 5 ซม. ด้านหนึ่งเหลาให้บาง อีกด้านหนึ่งกลม และมีด้ายพันเพื่อให้กระชับพอดีกับรูปี่ เดิมเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในวงเครื่องสาย ภายหลังนิยมใช้ขลุ่ยในวงเครื่องสาย ปี่อ้อจึงหาย

ปี่ไฉน เป็นปี่ 2 ท่อน สวมต่อกัน ท่อนบนเรียวยาวเรียก “เลาปี่” ท่อนล่างบานปลายเรียก “ลำโพง” ทำด้ายไม้และงาก็มี ที่เลาปี่มีรูสำหรับปิดเปิดนิ้วเปลี่ยนเสียง 7 รู รูนิ้วด้านหลังอีก 1 รู ลิ้นปี่ทำเหมือนลิ้นปี่ไทย คือ มีกำพวดผูกลิ้นใบตาลเหมือนกัน แต่มี “กระบังลม” ซึ่งทำด้วยโลหะหรือกะลา สวมไว้ด้วยสำหรับรองลมฝีปากในขณะเป่า เข้าจว่าไทยได้แบบอย่างปี่ชนิดนี้มา จากอินเดีย ปัจจุบันปี่ไฉนใช้ในงานพระราชพิธี เช่น ใช้เป่านำในขบวนแห่พระบรมศพ หรือศพเจ้านาย

แตร เป็นเครื่องเป่าที่ทำด้วยโลหะ ใช้ในงานพระราชพิธีมาแต่โบราณ มี 2 ชนิด คือ แตรงอน และ แตรฝรั่ง

  • แตรงอน มีรูปร่างโค้งงอน ตอนปลายบาน เข้าใจว่าประดิษฐ์ขึ้นโดยเลียนแบบมาจากเขาสัตว์ ซึ่งเป็นเครื่องเป่าดั้งเดิมของมนุษย์ ไทยเราคงจะได้แบบอย่างเครื่องดนตรีนี้มาจากอินเดีย เพราะอินเดียมีแตรรูปนี้สำหรับเป่าเป็นสัญญาณในขบวนแห่ และในงานพระราชพิธี ปัจจุบันแตรงอนใช้เป่าร่วมกับสังข์ในงานพระราชพิธี เช่น ในงานเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตรา และในขบวนแห่อื่น ๆ ในการนี้จะต้อง “เป่าแตรสังข์” เป็นเครื่องประโคมสำหรับพระราชอิสริยยศด้วย
  • แตรฝรั่ง มีลักษณะปากบานคล้ายดอกลำโพง ในหนังสือ กฎมณเฑียรบาล โบราณเรียกแตรชนิดหนึ่งว่า “แตรลางโพง” และในหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ 1 เรียกว่า “แตรวิลันดา” คงจะเป็นแตรที่ชาวฮอลันดานำเข้ามาเมืองไทยเป็นครั้งแรก เข้าใจว่าคงเป็นแตรชนิดเดียวกันนี้ และเหตุที่เรียกเครื่องดนตรีนี้ว่า “แตร” นั้นคงจะเรียกตามเสียงที่ได้ยิน แตรฝรั่งใช้เป่าร่วมกับแตรงอน และสังข์ ในงานพระราชพิธีเช่นกัน

สังข์ เป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่ง ทำจากเปลือกหอยสังข์ โดยนำมาขัดให้เกลี้ยงเกลา แล้วเจาะก้นหอยให้ทะลุเป็นรูสำหรับเป่า ไทยเราคงได้แบบอย่าง และการใช้เครื่องดนตรีชนิดนี้มาจากอินเดีย การเป่าสังข์ ถือว่าเป็นของขลังศักดิ์สิทธิ์ ใช้เฉพาะงานทีมีเกียรติศักดิ์สูง และใช้เป่าคู่กันกับแตรมาตลอด

ขลุ่ย ปี่ ปี่ชวา ปี่มอญ เครื่องดนตรีไทย ประเภท เครื่องเป่า

เครื่องเป่า

เครื่องเป่า ที่มนุษย์รู้จัก ใช้แต่เดิม ก็คงเป็น หลอดไม้รวก ไม้ไผ่ ใช้เป่า เป็น สัญญาณ ในการ ล่าสัตว์ ภายหลังรู้จักเจาะรู และทำให้สั้น สามารถ เปลี่ยนเสียงได้ จึง นำ เอามา เล่น เป็น ทำนอง ใช้เป็น เครื่องดนตรี อีก ประเภทหนึ่ง

เครื่องเป่าของไทยคือ ขลุ่ย และ ปี่

ขลุ่ย เป็นเครื่องเป่าดั้งเดิมของไทย เหตุที่เรียกว่า “ขลุ่ย” เข้าใจว่าเรียกตามเสียงเป่าที่ได้ยิน ขลุ่ยแต่เดิมทำด้วยไม้รวกปล้องยาว ๆ ไว้ข้อทางปลาย แต่เจาะรูทะลุข้อ และใช้ไฟย่างให้แห้ง ตบแต่งผิวให้ไหม้เกรียมเป็นลวดลายสวยงาม ต่อมาทำด้วยไม้จริงบ้าง งาบ้าง ขลุ่ยเลาหนึ่งมีรูสำหรับนิ้วปิดเพื่อเปลี่ยนเสียง 7 รู แต่เดิมขลุ่ยชนิดเดียว ต่อมาเมื่อนำมาเล่นผสมวงดนตรี จึงมีผู้ทำเป็น 3 ขนาด คือ ขนาดเล็ก เรียกขลุ่ยหลิบเสียงเล็กแหลมสูง ขนาดกลางเรียก ขลุ่ยเพียงออ เสียงระดับกลาง และขนาดใหญ่ เรียกขลุ่ยอู้ เสียงต่ำ ในปัจจุบันนิยมใช้ขลุ่ยเพียงออกันโดยมาก

ปี่ ของไทยมีวิธีเป่า และลักษณะการเจาะรูไม่เหมือนกับปี่ของชาติใด ปกติทำด้วยไม้จริง เช่น ไม้ชิงชัน ไม้พยุง กลึงให้เป็นรูปบานหัวบานท้าย ตรงกลางป่องเจาะภายในกลวงตลอดเลา ทางหัวเป็นช่องรูเล็กสำหรับใส่ลิ้น ทางปลายรูใหญ่ ตรงกลางป่องเจาะรู 6 รู สำหรับใช้นิ้วปิดเปิดเปลี่ยนเสียง ลิ้นปี่ทำด้วยใบตาลซ้อน 4 ชั้น ตัดกลมผูกติดกับท่อลมเล็ก ๆ ซึ่งเรียกว่า “กำพวด” กำพวดนี้ทำด้วยทองเหลือง เงิน หรือ นาค

ปี่ไทย มี 3 ขนาด คือ

  • ปี่นอก เป็นปี่ขนาดเล็ก เสียงเล็กแหลมสูง
  • ปี่กลาง เป็นปี่ขนาดกลาง เสียงระดับกลาง
  • ปี่ใน มีขนาดใหญ่ เสียงต่ำกว่า

ในการบรรเลงวงปี่พาทย์ในปัจจุบัน ปี่นอกกับปี่กลาง ไม่ค่อยได้ใช้ คงใช้แต่ ปี่ใน กันเป็นพื้น เครื่องเป่า จำพวกปี่ นอกจากปี่ของไทยแท้ ๆ แล้ว ในวงดนตรีไทย ยังมีปี่ของต่างชาติเข้ามาบรรเลงผสมด้วย คือ

ปี่ชวา เดิมเป็นของชวา (แขก) เป็นปี่ที่มีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ “เลาปี่” ทำด้วยไม้และ “ลำโพงปี่” ทำด้วยไม้หรืองาก็มี ปี่ชวามีเสียงแหลม ดัง ใช้เป่าคู่กับกลองแขก ประกอบการเล่นกระบี่กระบอง การชกมวยไทย ใช้บรรเลงร่วมในวงปี่พาทย์นางหงส์ และวงเครื่องสายปี่ชวา

ปี่มอญ เดิมเป็นปี่ของมอญ เป็นปี่ที่มีส่วนประกอบ 2 ส่วน เช่นเดียวกับปี่ชวา แต่มีขนาดใหญ่และยาวกว่า ส่วนที่เป็น “เลาปี่” ทำด้วยไม้ และส่วนที่เป็น “ลำโพงปี่” ทำด้วยทองเหลือง ทั้งสองส่วนนี้สอดสวมกันหลวม ๆ จึงต้องมีเชือกผูกโยงเพื่อไม่ให้หลุดจากกัน ปี่มอญ เสียงโหยหวนชวนเศร้า ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ และบรรเลงเพลงประกอบการแสดงฟ้อนของภาคเหนือ

กรับพวง กรับเสภา ระนาด ระนาดทุ้ม ระนาดเอก ฉิ่ง ฉาบ เครื่องดนตรีไทย ประเภทตี

เครื่องตี
เครื่องตี เป็นเครื่องดนตรี ที่เข้าใจว่า เกิด ขึ้น ก่อน เครื่องดนตรี ประเภทอื่น ๆ ซึ่ง ได้มีการแก้ไข ปรับปรุง วิวัฒนาการ มา โดยลำดับ เครื่องตี ที่ใช้ใน วงดนตรีไทย แบ่งออก เป็น 3 จำพวกคือ

เครื่องตีทำด้วยไม้

กรับพวง ทำด้วยไม้บาง ๆ หรือแผ่นทองเหลือง หรืองา และมีไม้แก่นหรืองา 2 อัน เจาะรู ตรงหัว ร้อย ประกบ ไว้สอบข้าง อย่างด้ามพัด เวลาตีใช้ มือหนึ่ง ถือตรงหัว ทางเชือกร้อย แล้ว ฟาดอีก ข้างหนึ่ง ลงบนฝ่ามือ

กรับพวง เดิม ใช้เป็น อาณัติสัญญาณ การเสด็จออกพระราชพิธีของพระเจ้าแผ่นดิน อย่างที่เรียกว่า รัวกรับ ภายหลัง นำมาใช้ตีเป็น จังหวะประกอบ การเล่น พื้นเมือง เช่น เพลงเรือ ดอกสร้อย และสักวา และการขับร้องประกอบการแสดงนาฎกรรม

กรับเสภา ทำด้วยไม้แก่น โดยปกติทำด้วยไม้ชิงชัน เหลาเป็นรูปสี่เหลี่ยม เสียนิดหน่อย เพื่อมิให้บาดมือ และให้สามารถ กลิ้งตัวกระทบกันได้สะดวก ใช้ประกอบใน การขับเสภา ผู้กล่าวขับคนหนึ่ง จะต้องใช้กรับ จำนวนสองคู่ กล่าวขับไปพลาง มือทั้งสองแต่ละข้าง ก็ขยับกรับ ให้กระทบ เข้าจังหวะกับเสียงกรับไปพลาง ภายหลัง นิยมใช้ตีประกอบจังหวะ ในวงดนตรีไทย ประเภทต่าง ๆ อีกด้วย

ระนาด เป็นเครื่องตีที่วิวัฒนาการมาจากกรับ โดยใช้ไม้กรับขนาดลดหลั่นกัน เรียกว่า “ลูกระนาด” ใช้เชือกร้อยให้ติดกันเรียกว่า “ผืนระนาด” และใช้ขี้ผึ้งกับตะกั่วผสมกันติดหัวท้ายของลูกระนาด ถ่วงเสียงให้มีระดับเสียงต่างกัน เวลาเล่นขึงแขวนไว้บนรางลูกระนาด แต่ก่อนทำด้วยไม้ไผ่ชนิดที่เรียกว่า ไผ่บง หรือไผ่ตง ต่อมามีผู้นำเอาไม้แก่น เช่น ไม้ชิงชัน ไม้มะหาด ไม้พยุง มาเหลาใช้ แต่ที่นิยมกันว่าเสียงเพราะก็คือ ไม้ไผ่ตง ระนาด มี 2 ชนิด คือ ระนาดเอก และระนาดทุ้ม

ระนาดทุ้ม เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเลียนแบบระนาดเอก ลูกระนาดทำด้วยไม้ชนิดเดียวกับระนาดเอก แต่เหลาลูกระนาดให้มีขนาดกว้าง และยาวกว่าลูกระนาดเอก ประดิษฐ์วางให้มีรูปร่างแตกต่างจากรางระนาดเอก คือมีรูปคล้ายหีบไม้ แต่โค้งด้านบน มีโขนปิดด้านหัวและท้าย มีเท้าเตี้ย ๆ รอง 4 มุมราง ลูกระนาดทุ้มมีจำนวน 17 – 18 ลูก มีเสียงทุ้มต่ำกว่าระนาดเอก จึงเรียกว่า “ระนาดทุ้ม” ใช้เป็นเครื่องบรรเลงทำนองเพลงแบบหยอกล้อ ล้วง และขัดจังหวะไม้ตีระนาดทุ้ม ใช้ไม้ชนิดเดียว คือ ไม้นวม

ระนาดเอก รางระนาดโค้งคล้ายเรือ ลูกระนาดมีจำนวน 21-22 ลูก เสียงเล็กแหลมดัง ใช้บรรเลงทำนองเพลง แบบเก็บละเอียด และบรรเลงนำวงในการขึ้นต้นและจบเพลง ไม้ตีระนาดเอกมี 2 ชนิดคือ ไม้แข็ง ทำให้เกิดเสียงดังเกรี้ยวกราด และไม้นวมทำให้เสียงนุ่มนวลไพเราะ

เครื่องตีทำด้วยโลหะ

ฉิ่ง เป็นเครื่องตีที่ทำด้วยโลหะประเภทเครื่องกำกับจังหวะ รูปร่างคล้ายถ้วยชาไม่มีก้น เว้ากลาง ปากผายกลม เจาะรูตรงกลางสำหรับร้อยเชือก เพื่อความสะดวก ในการถือตีกระทบกัน เมื่อต้องการตีเสียง “ฉิ่ง” ก็เอาขอบของฝาหนึ่งกระทบเข้ากับขอบอีกฝาหนึ่ง เมื่อต้องการตีเสียง “ฉับ” ก็เอาทั้งสองฝาตีประกบกัน ฉิ่งนับว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยาก เพราะผู้เล่น จะต้องมีความสามารถในเรื่องจังหวะ และรู้อัตรา จังหวะของเพลงที่บรรเลงเป็นอย่างดี

ฉาบ รูปร่างคล้ายฉิ่ง แต่หล่อบางกว่าฉิ่ง มีขนาดใหญ่กว่า และกว้างกว่า ตอนกลางมีปุ่มกลมทำเป็นกระทุ้ง ขอบนอก แบนราบออกไปโดยรอบ เจาะรูตรงกลางไว้ร้อยเส้นเชือก หรือเส้นหนังสำหรับถือ มี 2 ขนาด คือ ฉาบใหญ่ตีตรงจังหวะ และฉาบเล็กตีขัดจังหวะ

ฆ้องโหม่ง เป็นฆ้อง ที่มีหน้ากว้าง เส้น ผ่าศูนย์กลาง ราว 30 – 45 ซม. เมื่อตี ได้เสียงดัง “โหม่ง – โหม่ง” จึง เรียก ชื่อตาม เสียงว่า ฆ้องโหม่ง เครื่องดนตรี ชนิดนี้ เป็น เครื่องดนตรี เก่าแก่ มีคู่มา กับ กลอง เดิม ใช้ตี บอก เวลา กลางวัน จึงเรียก เวลา กลางวัน ว่า “โมง” ติดปากมา ทุกวันนี้ ฆ้องโหม่ง ใช้ตี เป็น จังหวะ ในการ บรรเลงดนตรี

ฆ้องราว เป็นฆ้อง 3 ใบ มีขนาดลดหลั่นกัน ใช้แขวนราวเรียงไปตามขนาด เมื่อตีตีเรียงไปตามลำดับแล้วย้อนกลับ จะได้ยินเสียง (เสียงตีฆ้อง) โหม่ง -โม่ง – โม้ง – โมง – โหม่ง เคยใช้บรรเลงในการเล่นมหรสพโบราณ ชื่อ “ระเบง” หรือโอละพ่อ ในงานพระราชพิธี บางครั้งจึงเรียกว่า “ฆ้องระเบง”

ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงใหญ่ใช้ต้นหวายดัดโค้งเป็นวงล้อมไปเกือบรอบตัว คนนั่นตีเรียกว่า “ร้าน” เปิดช่องไว้สำหรับเป็นทางเข้าด้านหลังคนตี ลูกฆ้องวงใหญ่มี 16 ลูกขนาดตั้งแต่ใหญ่ไปหาเล็ก เรียงลำดับ ตั้งแต่เสียงต่ำไปหาเสียงสูง ฆ้องวงใหญ่ใช้บรรเลงทำนองหลักของเพลง ผู้ที่จะหัดปี่พาทย์ควรเริ่มหัดตีฆ้องวงใหญ่ก่อน เพื่อจะได้เป็นรากฐานทางดนตรีที่มั่นคง

ฆ้องวงเล็ก สำหรับฆ้องวงเล็ก สร้างขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 3 โดยมีลักษณะเหมือนฆ้องวงใหญ่ทุกอย่าง แต่มีขนาดย่อมกว่า และมีลูกฆ้องมากกว่า คือ 18 ลูก ใช้บรรเลงเก็บเช่นเดียวกับระนาดเอก

ฆ้องมอญ เป็นฆ้องวงที่ตั้งโค้งขึ้นไปทั้ง 2 ข้าง ไม่วางลงราบไปกับพื้น เหมือนฆ้องไทย ฆ้องมอญวงหนึ่งมีจำนวน 15 ลูก ร้านฆ้องวงมักประดิษฐ์แต่งกันอย่างสวยงาม เช่น แกะสลักเป็นลวดลาย ปิดทองประดับกระจก ฆ้องมอญใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ ซึ่งในปัจจุบัน นิยมใช้บรรเลงประโคมในงานศพ ฆ้องมอญมี 2 ชนิด เช่นเดียวกับฆ้องวงของไทย คือ ฆ้องมอญวงใหญ่ และฆ้องมอญวงเล็ก

ระนาดเอกเหล็ก เป็นเครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ เดิมเรียกระนาดทอง เพราะเมื่อ ประดิษฐ์ขึ้น ครั้งแรกใน สมัย รัชกาลที่ 4 ใช้ทองเหลืองทำลูกระนาด ปัจจุบันนิยมใช้เหล็ก หรือสแตนเลสทำลูกระนาด ใช้วาง เรียงบน รางไม้ มีผ้าพัน หรือใช้ไม้ระกำวางพาดไปตามขอบราง สำหรับรองหัวท้ายลูกระนาดแทนการร้อยเชือก เนื่องจาก มี น้ำหนักมาก รางไม้ที่ใช้วางลูกระนาดนึ้นทำเป็นรูปหีบสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีวิธีการบรรเลงเช่นเดียวกับระนาดเอกไม้

ระนาดทุ้มเหล็ก เป็นเครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริให้สร้างขึ้น ลูกระนาดคงทำอย่างเดียวกับระนาดเอกเหล็ก แต่ทำเขื่องกว่า เป็นเสียงทุ้มเลียนอย่างระนาดทุ้ม มีจำนวน 16 – 17 ลูก วิธีบรรเลงเช่นเดียวกับระนาดทุ้มไม้

เครื่องตีขึงด้วยหนัง

กลองทัด ตัวกลองทำด้วยไม้แก่น เนื้อแน่นแข็ง ใช้กลึงคว้านข้างในจนเป็นโพรง ตรงกลางป่องออกนิดหน่อย ขึ้นหน้าทั้ง 2 ข้าง ด้วยหนังวัวหรือหนังควายตรึงด้วยหมุด ซึ่งเรียกว่า “แส้” ทำด้วยไม้ หรืองา หรือกระดูกสัตว์ หรือโลหะ ตรงกลางหุ่นกลองด้านหนึ่งมีห่วงสำหรับแขวน เรียกกันว่า “หูระวิง” เวลาใช้บรรเลงตีเพียงหน้าเดียว หน้าหนึ่งติดข้าวสุกผสมกับขี้เถ้าปิดตรงใจกลาง แล้ววางกลองทางด้านนั้นคว่ำตะแคงขอบไว้บนหมอนหนุน มีขาหยั่งสอดค้ำตรงหูระวิง ใช้ตีด้วยท่อนไม้ 2 อัน กลองทัด นิยมใช้ 2 ลูก ลูกหนึ่งเสียงสูงเรียกว่า “ตัวผู้” ตีเสียงดัง “ตูม” อีกลูกหนึ่งเสียงต่ำเรียกว่า “ตัวเมีย” ตีเสียงดัง “ต้อม”

กลองชาตรี มีรูปร่าง ลักษณะ เช่นเดียว กับ กลองทัด ทุกอย่าง แต่ ขนาดเล็ก กว่ามาก เรียก อีกอย่าง หนึ่ง ตามเสียงดังว่า “กลองตุ๊ก” ใช้บรรเลง ร่วมใน วงปี่พาทย์ ประกอบ การแสดง ละครชาตรี จึงเรียกว่า กลองชาตรี และใช้ตี ประกอบเพลงชุด “ออกภาษา” ในเพลง สำเนียง ภาษาจีน และตะลุง

ตะโพน ตัวตะโพนทำด้วยไม้สัก หรือไม้ขนุน เรียกว่า “หุ่น” ขุดแต่งให้เป็นโพรงภายใน ขึ้นหนัง 2 หน้า ดึงด้วย สายหนังโยงเร่งเสียงที่เรียกว่า “หนังเรียด” หน้าหนึ่งใหญ่ เรียก “หน้าเท่ง” ใช้ติดข้าวสุก บดผสมขี้เถาเสียง อีกหน้าหนึ่งเล็กเรียก “หน้ามัด” ตรงรอยขอบหนัง ขึ้นหน้าถักด้วยหนังตีเกลียวเส้นเล็ก ๆ เรียกว่า “ไส้ละมาน” แล้วขึงเอาหนังเรียดร้อยในช่องของไส้ละมานทั้ง 2 หน้า โยงเรียงไปโดยรอบจนไม่เห็น “ไม้หุ่น” มีหนังพัน ตอนกลางเรียกว่า “รัดอก” ตรงรัดอกข้างบนทำเป็นหูหิ้ว ตะโพนใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ มีหน้าที่กำกับ จังหวะหน้าทับต่าง ๆ

ตะโพนมอญ มีส่วนประกอบเช่นเดียวกับตะโพนไทย แต่มีขนาดใหญ่กว่า กล่าวคือ ตะโพนไทยรูปร่างป่องกลาง ส่วนตะโพนมอญรูปร่างใหญ่ด้านหนึ่ง และเรียวเล็กลงอีกด้านหนึ่ง ใช้ตีคู่กับเปิงมางคอกในวงปี่พาทย์มอญ

โทนชาตรี ทำด้วยไม้ เช่น ไม้สัก ไม้ขนุน หรือ ไม้กระท้อน สายโยงเร่งเสียงใช้หนังเรียด ใช้ตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์ วงเครื่องสาย หรือวงมโหรีที่เล่นเพลงภาษาเขมร หรือตะลุง กับใช้ตีคู่กับกลองชาตรี ประกอบการแสดงละครชาตรีและมโนราห์

โทนมโหรี ตัวโทนทำด้วยดินเผา ด้านที่ขึ้นหนังโตกว่าโทนชาตรี สายโยงเร่งเสียง ใช้ต้นหวายผ่าเหลา เป็นเส้นเล็ก หรือใช้ไหมฟั่นเป็นเกลียว หนังที่ขึ้นหน้าใช้หนังลูกวัว หนังแพะ หนังงูเหลือม หรือหนังงูงวงช้าง ใช้บรรเลงในวงเครื่องสายและวงมโหรี จึงเรียกว่า โทนมโหรี โทนมโหรีใช้ลูกเดียวแต่ตีสอดสลับคู่กับรำมะนา ซึ่งเป็นกลองขึงหน้าเดียวเช่นกัน รำมะนามโหรีมีขนาดเล็ก หนังที่ขึงตรึงด้วยหมุดโดยรอบ ตีด้วยฝ่ามือ

กลองแขก รูปร่างยาวเป็นกระบอก หน้าหนึ่งใหญ่เรียกว่า “หน้ารุ่ย” อีกหน้าหนึ่งเรียกว่า “หน้าต่าน” หุ่นกลอง กลองแขกทำด้วยไม้จริงหรือไม่แก่น เช่น ไม้ชิงชัน หรือไม้มะริด ขึ้นหนัง 2 หน้าด้วยหนังลูกวัว หรือหนังแพะ มีสายหนัง โยงเร่งเสียง สำรับหนึ่งมี 2 ลูก ลูกเสียงสูงเรียกว่า “ตัวผู้” ลูกเสียงต่ำเรียกว่า “ตัวเมีย” เดิมใช้บรรเลง ร่วมกับปี่ชวา ประกอบการ เล่นกระบี่กระบอง ฟันดาบและชกมวย แล้วภายหลัง จึงนำ มาใช้บรรเลงใน วงปี่พาทย์ ของไทย ใช้ตีกำกับ จังหวะ แทนตะโพน และใช้แทนโทนกับรำมะนาในวงเครื่องสาย หรือวงมโหรีด้วย

กลองมลายู รูปร่างคล้ายกับกลองแขก แต่ตัวกลองสั้น และอ้วนกว่า หน้ากลองกว้างกว่า กลองมลายู ที่สร้าง ในระยะหลัง ๆ บางทีทำอย่างกลองแขก เพียงแต่มีขนาดย่อมกว่า การตีกลอง ชนิดนี้ หน้าใหญ่ตีด้วยไม้งอ ๆ หน้าเล็กตีด้วยฝ่ามือ แต่เดิมใช้ตีในขบวนพยุหยาตรา ขบวนแห่พระบรมศพ และศพเจ้านาย ภายหลัง นำมาใช้ บรรเลงประโคมศพในวงบัวลอย และวงปี่พาทย์นางหงส์ โดยบรรเลงคู่กัน 2 ลูก คือ ตัวผู้และตัวเมีย เช่นเดียว กับกลองแขก

เปิงมางคอก คือเปิงมางที่ใช้กันอย่างในวงปี่พาทย์มอญ โดยใช้เปิงมางจำนวน 7 ลูก มีขนาดลดหลั่นกันลงไป และติดข้าวสุกผสมขี้เถ้า ปิดหน้ากลองแต่ละลูกเทียงเสียงสูงต่ำ แขวนเรียงลำดับไว้เป็นราวล้อมตัวคนตี คอกที่ทำ สำหรับแขวนเปิงมางนั้น มักประดิษฐ์อย่างสวยงาม เช่นประดับกระจกสี ใช้ตีคู่กับ ตะโพนมอญในวงปี่พาทย์มอญ

สองหน้า คือ เครื่องหนังที่สร้างเลียนแบบเปิงมางนั่นเอง แต่ขยายให้โตขึ้นกว่าเปิงมาง หน้าข้างที่กว้าง กว่าใช้ตีด้วยมือซ้าย หน้าที่เล็กกว่าตีด้วยมือขวา ติดข้าวสุกผสมขี้เถ้าเพิ่มขึ้น เพื่อถ่วงเสียงให้ต่ำ จนคล้ายตะโพน ใช้ตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์ไม้แข็งที่บรรเลงประกอบการขับเสภา หรือร้องส่งอย่างสามัญ

จะเข้ เครื่องดนตรีไทย ประเภทดีด, ซอสามสาย ซออู้ ซอด้วง เครื่องดนตรีไทย ประเภทสี

ในปัจจุบันเมื่อพูดถึง เครื่องดนตรีไทย เรามักจะเข้าใจกันแต่เพียง เครื่องดนตรี ที่ใช้บรรเลงกันอยู่ใน วงดนตรีไทย ทั่ว ๆ ไปเท่านั้น

ความจริงแล้ว เครื่องดนตรีไทย ยังมีอีก มากมาย รวมถึง เครื่องดนตรีไทย โบราณ ที่เลิกใช้แล้ว หรือ เครื่องดนตรีไทย ที่ใช้ใน งานพระราชพิธีต่าง ๆ และ เครื่องดนตรีพื้นเมือง ของภาคต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อ ที่จะได้รู้จัก และมีความรู้ เกี่ยวกับ เครื่องดนตรีไทย กว้างขวาง ขึ้น ต่อไปนี้ จะได้กล่าวถึง เครื่องดนตรีไทย

โดยแยกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

  • เครื่องดนตรีไทย ที่ใช้บรรเลงกันอยู่ใน วงดนตรีไทย ในปัจจุบัน
  • เครื่องดนตรีไทยโบราณ และ เครื่องดนตรีไทยที่ใช้ในงานพระราชพิธี
  • เครื่องดนตรีไทยพื้นเมือง

เครื่องดนตรีไทย ที่ใช้บรรเลงกันอยู่ในวงดนตรีไทยในปัจจุบัน ได้แก่

เครื่องดีด
เครื่องดนตรีไทย ประเภทเครื่องดีด ที่ยังนิยมใช้บรรเลงกันอยู่ใน วงดนตรีไทย ในปัจจุบันนี้ มีอยู่ชนิดเดียว คือ จะเข้
จะเข้ เป็นเครื่องดีดที่มีเสียงกันวานไพเราะมาก เข้าใจกันว่า จะเข้ ได้รับการปรับปรุงมาจากพิณ เพื่อให้นั่งดีดได้สะดวกและไพเราะ จึงวางราบไปตามพื้น

ตัวจะเข้ ทำด้วยไม้แก่นขนุนท่อนเดียวกัน มีเท้ารองตอนหัว 4 อัน และปลายหางอีก 1 อัน มี 3 สาย เป็นลวดทองเหลือง 1 สาย และสายเอ็น 2 สาย ใช้ดีดด้วยไม้ดีดกลมปลายแหลม ทำด้วยกระดูกสัตว์หรืองา เวลาดีดเคียนไม้ดีดด้วยเส้นด้าย ติดกับปลายนิ้วชี้ของผู้ดีด และใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลาง ช่วยกันจับเพื่อให้มีกำลัง

จะเข้ ใช้บรรเลงร่วมใน วงเครื่องสาย และ วงมโหรี หรือใช้บรรเลงเดี่ยวประกอบการแสดง “ฟ้อนแพน”

เครื่องสี
เครื่องสี เป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลง หรือเล่นโดยใช้คันชักเข้ากับสาย เกิดขึ้นภายหลังเครื่องดีด อันได้แก่ เครื่องดนตรีไทย ที่เรียกว่า “ซอ” ซอที่ใช้อยู่ในวงดนตรีไทยมี 3 ชนิด คือ ซอสามสาย ซออู้ และ ซอด้วง

ซอสามสาย เป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยาก แต่เป็นที่นิยมกันว่า ไพเราะ และสอดคล้องเข้ากับ เสียงขับร้อง ของนักดนตรีไทย ยากที่จะหาเครื่องดนตรีอื่นเทียบเคียงได้ กระโหลก ซอสามสาย ทำด้วย กะลามะพร้าว ชนิดพิเศษ คือมีกะลานูนเป็นกะพุ้งออกมา 3 ปุ่ม คล้ายวงแหวนสามอัน วางอยู่ในรูป สามเหลี่ยม จึงเป็น 2 เส้า ผ่ากะลาให้เหลือปุ่ม 3 เส้าเป็นกะโหลกซอ แล้วขึงหนังแพะหรือหนังลูกวัวปิดปากกะลา ส่วนประกอบที่สำคัญของ ซอสามสาย มี “หย่อง” เป็นไม้สำหรับหนุนสายตรงหนังหน้าซอ และ “ถ่วงหน้า” ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญมาก ใช้ติดตรงหนังหน้าซอตอนบนด้านซ้าย ช่วยให้เสียงซอมีความไพเราะขึ้น ปกติทำด้วยเงินลงยา หรือทำด้วย ทองคำ ฝังเพชรก็มี คันชัก ซอสามสาย เป็นรูปโค้ง โคนตรงมือถืองอน แยกต่างจากตัวซอ ซอสามสาย ใช้บรรเลงร่วมใน วงมโหรี หรือบรรเลงคลอกับคนร้อง

ซออู้ เป็นซอ 2 สาย ตัวกะโหลกซอทำด้วยกะลามะพร้าว ชนิดกลมรีขนาดใหญ่ ใช้หนังแพะ หรือหนังลูกวัว ขึงขึ้นหน้า คันซอ หรือ ทวน ทำด้วยไม้จริง เช่น ไม้แก้ว หรือ ทำด้วยงาตันก็มี ซออู้ที่หน้าซอ ที่ตรงกลางที่ขึ้นหนัง ใช้ผ้าม้วนกลม ๆ เป็นหมอนหนุนสาย ให้พันหน้าซอ คันชัก ทำด้วยไม้จริง หรืองา ใช้ขนหางม้าประมาณ 160-200 เส้น สำหรับขึ้นสายคันชัก เหมือนสายกระสุน หรือ หน้าไม้ ซออู้ ใช้บรรเลงร่วมใน วงเครื่องสาย วงมโหรี วงปี่พาทย์ไม้นวม และ วงปี่พาทย์ ดึกดำบรรพ์

ซอด้วง เป็นซอ 2 สาย เช่นกัน ทั้งทวนและคันชักทำอย่างเดียวกับ ซออู้แต่ขนาดย่อมกว่าและสั้นกว่าเล็กน้อย กะโหลกซอด้วงเดิมทำด้วยกะโหลกไม้ไผ่ ต่อมาใช้ไม้จริงและงา ที่นิยมว่าเสียงดีนั้น ทำด้วยไม้ลำเจียก ใช้หนัง งูเหลือมขึงหน้าซอ เนื่องจากลักษณะกะโหลกซอด้วง คล้ายเครื่องดักสัตว์ที่เรียกว่า “ด้วง” เช่น เครื่องดักแย้ จึงเรียกชื่อตามรูปร่างลักษณะนั่นเอง ซอด้วงมีเสียงสูง ดังแหลมกว่าซออู้ ใช้บรรเลงวงเครื่องสาย และ วงมโหรี

โทนชาตรี ปี่กาหลอ ปี่ไหน กลองชาตรี กรับชัก ฆ้องคู่ เครื่องดนตรีไทย พื้นเมืองภาคใต้

เครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคใต้ ได้แก่

ทับ หรือ โทนชาตรี เป็นกลอง ชนิด หุ้มหนังหน้าเดียว หุ่นกลอง นิยมใช้ แก่นไม้ขนุน ทำ หน้ากลอง นิยมใช้หนังบาง ๆ เช่น หนังค่าง หรือหนังแมวขึงขึ้นหน้า โดย ใช้ เชือก หรือ หวายผูกตรึง ไว้กับหุ่น ทับ ใช้ตี ให้จังหวะ ควบคุม การ เปลี่ยน จังหวะ เสริมลีลา ท่าทาง การ แสดง ละครชาตรี โนรา และ หนังตะลุง ตามปกติใช้ทับ 2 ลูก ตี ประกอบ กับ กลองชาตรี ตำนาน โนรา เรียกทับลูกหนึ่งว่า “น้ำตาตก” และอีก ลูกหนึ่งว่า “นกเขาขัน”

ปี่กาหลอ หรือ ปี่ห้อ เป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่ง เลาปี่ทำด้วยไม้ยาวประมาณ 13 นิ้ว มีรูบังคับเสียง 7 รู และด้านล่างมีรูนิ้วหัวแม่มือ 1 รู ลิ้นปี่ทำด้วยใบตาลมีบังลมทำด้วยไม้ หรือเปลือกหอยมุก ด้านล่าง เป็นลำโพงปี่ ทำด้วยไม้ปากบาน เพื่อขยายเสียง (เช่นเดียวกับปี่ชวา)

นิยมใช้ลูกปัดสีต่าง ๆ ร้อยห้อยที่เลาปี่เพื่อตกแต่งด้วย ปี่กาหลอใช้เป่าบรรเลงในงานศพ หรืองานบวชที่ผู้บวชจะไม่สึก

ปี่ไหน เป็นเครื่องเป่าที่มีรูปร่างเหมือนปี่ใน หรือปี่นอกของภาคกลาง แต่เล็กกว่าปี่นอก ระดับเสียงสูงกว่า ปี่รูบังคับเสียง 6 รู ลิ้นทำด้วยใบตาลผูกติดกับท่อลมเล็ก ๆ (กำพวด) ปี่ไหน นิยมใช้เป่า ประสมใน วงดนตรี ประกอบการแสดง โนราและหนังตะลุง


กลองชาตรี หรือ กลองดตุ๊ก มีรูปร่างเช่นเดียวกับ “กลองทัด” แต่มีขนาดเล็กกว่าหลายเท่า มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10″ – 12″ สูงประมาณ 18 ” หุ่นกลองนิยมใช้ไม้ขนุนทำ เพราะทำให้เสียงดังดี หน้ากลองขึงด้วยหนังวัว หรือหนังควาย โดยใช้หมุดไม้ (ชาวใต้เรียก “ลูกสัก”) ตอกยึดไว้กับตัวหุ่น

กลองชาตรีใช้ตีประกอบการแสดงละครชาตรี โนราและหนังตะลุง (โดยใช้เป็นจังหวะ เสริมลีลาท่าทางการแสดง) ตำนานโนราเรียกกลองชนิดนี้ว่า “กลองสุวรรณเภรีโลก” โนรารุ่นเก่าใช้ตีเวลาผ่านชุมชน หรือสถานที่ ๆ ควรเคารพบูชา ตีเป็นสัญญาณบอกคน หรือเรียกคนให้มาดูการแสดง

กราว หรือ กรับชัก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งเหลาบาง ๆ กว้างประมาณ11/2 นิ้ว ยาวประมาณ 9 นิ้ว จำนวน 6 -10 อัน นำมาร้อยติดกันเป็นพวง (เช่นเดียวกับกรับพวง) โดยเจาะรูตรงกลาง สวมกับหลักซึ่งตรึงกับฐานไม้หนา ๆ อันบนสุดมีมือจับ กราวหรือกรับชัก นิยมใช้เล่นประกอบจังหวะการแสดงโนราอย่างเดียว เพราะเสียงดัง หนักแน่นมาก

ฆ้องคู่ เป็นฆ้อง 2 ใบ ใบหนึ่งเสียงสูง อีกใบหนึ่งเสียงต่ำ แขวนขึงอยู่กับรางไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (สมัยโบราณใช้โหม่งฟาก ซึ่งทำด้วยแผ่นเหล็ก 2 อัน) ฆ้องคู่ใช้ตีประกอบการเล่นละครชาตรี โนราและหนังตะลุง โดยประสมกับกลองชาตรี ทับ ฉิ่ง และ ปี่